Tuesday, December 27, 2011

เมื่อ Instagram เป็นมากกว่าแอพพลิเคชั่นถ่ายรูป


เมื่อ Instagram เป็นมากกว่าแอพพลิเคชั่นถ่ายรูป เวทีแจ้งเกิดของตากล้องมืออาชีพไม่จำเป็นต้องอาศัยกล้องดิจิตอลราคาเหยียบแสนอีกต่อไป"Instagram เป็นแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์ม iOS ที่ได้รับความนิยมมาสักระยะและมีเครือข่ายผู้ใช้งานเยอะเทียบเท่า Social Media อย่าง Facebook, Twitter และ YouTube ได้เลยทีเดียว เพราะฟังก์ชั่นพื้นฐานแม้จะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับถ่ายภาพ และปรับแต่งเอฟเฟ็กต์ทั้งแสงสี และเงาแล้ว Instragam ยังสามารถระบุพิกัดของสถานที่ที่ได้เก็บภาพนั้น อีกทั้งยังแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ในเครือข่ายที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น Instagram ที่ติดตามเราได้ติชม และแบ่งปันกระจายสู่เครือข่ายวงกว้างอื่น ๆ อย่าง Facebook และ Twitter ได้อีกต่อหนึ่ง ทำให้กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่าย

ในประเทศไทยนั้น
Instagram ได้รับความนิยมมากมายระดับหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งในแพลตฟอร์มของ Android เองก็มีแอพพลิเคชั่นที่ใกล้เคียงกัน ที่พัฒนาโดยทีมคนไทยอย่าง Molome ที่น่าจะมีภาษีเทียบเคียงกับเจ้า Instagram ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอนิยามไปที่แอพพลิเคชั่นเพียง Instagram เพียงตัวเดียวก่อน
สมัคร ถ่าย แต่ง แบ่งปัน

วิธีการง่าย ๆ ที่ทำให้
Instagram และบริการของแอพพลิเคชั่นตัวนี้ครองใจผู้ใช้งานคือ แค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Instagram ผ่าน App Store ของ Apple
โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังไม่ต้องศึกษาการใช้งานให้ยุ่งยาก เพราะหน้าจอของแอพพลิเคชั่นนั้นสื่อความหมายได้ง่ายต่อการเข้าใจ เพราะเป็นเพียงแค่แอพพลิเคชั่นถ่ายภาพ และเมื่อถ่ายภาพเสร็จก็แค่จัดการแต่งภาพ ทำการแบ่งปันโดยบรรยายคำอธิบายของภาพที่ถ่ายไว้ พร้อมทั้งระบุพิกัดสถานที่บริเวณที่ได้ทำการถ่ายภาพ แบ่งปัน ให้แก่เพื่อน ๆ ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นก็เป็นอันเสร็จสิ้น

ซึ่งในปัจจุบันมีนักถ่ายภาพมือสมัครเล่นมากมายที่ถ่ายทอดภาพถ่ายในมุมมองของตนเอง ทำให้ยิ่งมีการบอกต่อถึงผลงานภาพถ่ายเหล่านั้น และเกิดผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการที่อยากจะติดตามผลงานถ่ายภาพของคนที่เพื่อนแนะนำ และบางรายก็อยากจะเป็นผู้เผยแพร่ฝีมือการถ่ายภาพซะเอง


หากมองย้อนกลับไปก่อนที่จะมีแอพพลิเคชั่น Instagram ช่างภาพทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพทั้งหลาย มีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Social Network ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยภายในกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ วิธีการ และแสดงผลงานให้ได้ติชม อีกทั้งยังใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านั้นเป็นเหมือน Portfolio ไว้แสดงผลงานไว้สำหรับนำเสนอผู้ว่าจ้าง เพื่อรับงานถ่ายภาพ นับว่าอาชีพช่างภาพกับการใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นสิ่งที่คู่กันมายาวนานแล้ว

ซึ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังในสมัยก่อน ก่อนที่จะมี Facebook และ Twitter นั้น ช่างภาพหลายรายจะใช้บริการเว็บไซต์ Multiply ในการนำเสนอภาพถ่าย และเก็บไว้เป็นคอลเล็กชั่นของตนเอง แต่ว่าในปัจจุบันนี้ เหล่าช่างภาพและคนที่ชอบถ่ายภาพทั้งหลาย เริ่มมีกิจกรรมใหม่ในยามว่างคือการแชร์ หรือแบ่งปันภาพถ่ายผ่านสมาร์ทโฟนอย่างเจ้า iPhone ด้วยแอพพลิเคชั่นถ่ายภาพ เพื่อให้เหล่าเพื่อนฝูงที่คอยติดตามได้เฝ้าดูและติชมผ่านเครือข่ายแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถปรับแต่งรูปภาพที่ถ่ายมาให้สวยงาม จัดแสงจัดเงาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็น่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น Camera+, Flickr และสุดท้ายก็มาลงเอยที่เจ้า Instagram นั่นเอง
เมื่อ Instagram กลายเป็น Portfolio
จากเดิมที่ตากล้องมืออาชีพ จะต้องมีการถ่ายภาพด้วยกล้อง
DSLR ที่บางตัวราคาเหยียบแสน ออกมาเป็นภาพสวยงาม นำไปย่อขนาดภาพในเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรับสี หรือปรับแสงเงาของภาพถ่าย แล้วนำมาแบ่งปันให้แก่เพื่อน โดยอัพโหลดผ่าน Facebook ด้วยฟังก์ชั่น Gallery แล้วก็ทำการเกณฑ์พรรคพวกให้เข้ามาติชม และบอกต่อถึงฝีมือระดับเทพบ้าง มารบ้าง ให้แก่เพื่อน ๆ ภายในเครือข่ายต่อ ๆ กันไปเปรียบเสมือนการสร้างผลงานชั้นดีให้แก่ผู้ที่สนใจในผลงานของเรา แต่ปัญหามันก็มีอยู่ว่า ขั้นตอนมันเยอะเกินไปหรือไม่ จะทำอย่างไรที่ภาพถ่ายของเราจะได้เผยแพร่สู่สาธารณะชน หรือเพื่อนในเครือข่ายของเราได้รวดเร็วที่สุด นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ตากล้อง หรือผู้ที่ชอบถ่ายภาพนั้นนิยมใช้งานแอพพลิเคชั่น Instagram เพราะว่าบางครั้งผลงานก็ไม่จำเป็นต้องถูกนำเสนอแบบยิ่งใหญ่ แค่มุมมองเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านสมาร์ทโฟนบางมุมก็สามารถเก็บเป็น Portfolio ดี ๆ ไว้นำเสนอแก่ผู้ที่สนใจ หรือบางทีเหล่าคนทั่วไปที่ได้ใช้งานแอพพลิเคชั่นตัวนี้ก็สามารถพบเห็นงานของเราได้ทันทีผ่านฟังก์ชั่น Feed ของตัวแอพพลิเคชั่น ไม่แน่บางทีเราอาจจะได้ผู้ติดตามผลงานของเราเป็นศิลปินชื่อดังที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการหาแรงบันดาลใจก็เป็นได้
เมื่อ Photographer หันมาเป็น PhoneGrapher

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาชีพตากล้องนิรนาม หรือช่างภาพมือสมัครเล่นหลายคนแจ้งเกิดจากการใช้แอพพลิเคชั่น Instagram ในการแบ่งปันภาพถ่าย หลายคนถูกดึงตัวให้ไปร่วมงานกับธุรกิจแฟชั่น เสื้อผ้า และวงการโฆษณา ที่ต้องอาศัยการถ่ายแบบ เหล่าตากล้องนิรนาม หรือช่างภาพมือสมัครเล่นเหล่านี้มักจะแจ้งเกิดในผลงานการถ่ายภาพแนว Street Photography เป็นส่วนมาก ซึ่งการถ่ายภาพแบบ Street Photography นั้นตามหลักการจะต้องอาศัยเทคนิคการถ่ายภาพที่ต้องผสมผสานมุมมอง จังหวะ และองค์ประกอบของสถานที่ซึ่งได้แก่ท้องถนน เพื่อที่จะได้ภาพถ่ายที่สามารถสื่อถึงสภาพความเป็นจริงและเล่าเรื่องราวอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีตัวอักษรอธิบาย

และเรื่องราวของภาพถ่ายเหล่านั้นต้องสะท้อนให้เห็นถึงสังคม และวิถีชีวิตของตัวละครที่ปรากฏในภาพถ่าย โดยส่วนมากมักจะใช้ภาพขาว-ดำ หรือภาพที่ถูกจัดแสงในลักษณะที่มืดสว่างเกินบรรยากาศจริง เป็นการเอาเทคนิคการใช้แสงเงาสะท้อนกดอารมณ์ ความรู้สึก ของเรื่องราวภายในภาพออกมาสู่สายตาของผู้ชมให้รู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่ปรากฏในภาพ ซึ่งถนนของมหานครเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายสถานที่นั้นคือเวทีสำหรับถ่ายทอดมุมมองมากมายของเหล่าตากล้อง และช่างภาพหน้าใหม่ฝีมือเฉียบขาดหลายคน

ซึ่งแอพพลิเคชั่น Instagram นั้นมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับแสงเงาของภาพถ่าย ที่ได้ทำการถ่ายออกมาให้อยู่ในแนวทางของ Street Photography ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้ศิลปินช่างภาพอิสระ ตากล้องนิรนาม ไปจนถึงช่างภาพมือสมัครเล่นได้โชว์ฝีมือแบบรวดเร็วทันใจเสิร์ฟถึงมือแมวมอง และเอเยนซี่ที่คอยสอดส่องผลงานที่เข้าตากรรมการในแอพพลิเคชั่น Instagram

ในตอนนี้ มีผู้คนที่นิยมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น
Instagram หลายรายได้ออกมายอมรับว่าตนเองได้เสพติดภาพถ่ายของเหล่าตากล้องนิรนามหลายคนผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนตัวนี้พอๆ กับการเข้าชมงานแสดงผลงานถ่ายภาพที่จัดขึ้นนานๆ ครั้ง มันต่างกันก็เพียงแค่งานแสดงภาพบน Instagram นั้นมีให้ชมทุกวัน ขนาดที่ว่าบางครั้งแทบจะต้องเฝ้ารอดูว่าภาพที่ได้ติดตามเหล่าผู้เล่น Instagram ที่เป็นช่างภาพนั้น จะถูกอัพโหลดขึ้นในระบบตอนไหนเวลาใด ส่วนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น Instragam หลายคนได้ยอมรับว่าการถ่ายภาพผ่านแอพพลิเคชั่น Instagram นั้นคืองานอดิเรกที่สื่อถึงไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวเองมากที่สุด
การตลาดผ่าน Instagram

ปัจจุบันนี้ในต่างประเทศ แอพพลิเคชั่น
Instagram กลายเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ผ่าน Social Media ตัวหนึ่งไปแล้ว เพราะว่าภาพถ่ายหลายๆ ภาพที่ปรากฏขึ้นใน Instagram เปรียบเสมือนการทำการตลาดแบบบอกต่อหรือ Viral Marketing ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น Instagram หลายรายที่มีผู้ติดตามภาพถ่ายเป็นจำนวนมากในต่างประเทศได้ถูกเจ้าของสินค้า และแบรนด์เนมชื่อดังจ้างในราคาที่สูงเพื่อจ้างให้พวกเขาเหล่านั้นแบ่งปันภาพถ่ายที่มีแบรนด์ของสินค้า หรือตัวผลิตภัณฑ์ให้ปรากฏอยู่ในภาพ

โดยผู้ให้บริการ และผู้ว่าจ้างเหล่านั้นได้ออกความเห็นว่า มันเป็นการง่ายพอ ๆ กับจ้างให้
Blogger เขียนโฆษณาแฝงลงในเนื้อหา หรือที่เรารู้จักอย่าง Advertorial บางรายก็สร้างแคมเปญการตลาดให้ค้นหาสัญลักษณ์ และการแบ่งปันเพื่อเก็บสะสมเป็นคะแนนมาแลกของรางวัล จุดนี้ผู้บริโภคหลายคนได้ให้ความเห็นเชิงบวกว่า มันสนุกที่จะมีเครื่องมือในการเล่น Social Media หรือเครือข่ายสังคมที่บอกเรื่องราวที่อยู่รอบ ๆ ตัวของผู้เล่นจากคนที่มีตัวตนจริงๆ อีกทั้งภาพบางภาพได้เป็นเสมือนกุญแจในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คน ในการพยายามตีความของภาพเหล่านั้นบนหน้าจอแอพพลิเคชั่น และสินค้าที่ปรากฏในภาพถ่ายของ Instagram
สามารถทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ง่ายพอ ๆ กับสินค้าเสมือนในเกมออนไลน์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แต่คนไทยไม่ควรเอาอย่างคือ ตัวอย่างสาวน้อยไฮท์สคูลรายหนึ่ง เธอใช้นามแฝงว่า
Bobsuicide เป็นเจ้าของอัลบั้มภาพในแอพพลิเคชั่น Instagram ที่มีชื่อว่า Girl of Geek งานอดิเรกของเธอคือ การถ่ายภาพเซ็กซี่ของเธอเอง แล้วนำไปติดไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ในโรงเรียนมัธยมของเธอ โดยในแต่ละเดือนนั้นก็จะมีภาพเซ็กซี่ของเธอในธีมที่แตกต่างกันไป ให้เหล่าเพื่อนร่วมโรงเรียนได้คอยติดตามชมและวิจารณ์ จนกระทั่งเธอเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่น Instagram และได้ถ่ายภาพของเธอแบ่งปันไปเรื่อย ๆ จนมาถึงแกลลอรี่ที่ชื่อว่า Girl of Geek
นี่เอง

โดยในภาพที่เธอถ่ายนั้นจะมีสินค้าจำพวกตุ๊กตา ที่จำลองมาจากภาพยนตร์เรื่อง
Star Wars จนเมื่อภาพดังกล่าวได้ถูกพูดถึงมากขึ้น สินค้าทั้งหมดที่ปรากฏในภาพถ่ายของเธอก็มียอดขายสูงขึ้นทันที จนกลายเป็นว่าเจ้าของเบรนด์หลายแบรนด์ต้องจ้างเธอให้มาถ่ายภาพร่วมกับสินค้าใหม่ ๆ ตลอดเวลาจนถึง ณ ตอนนี้ ซึ่งถือว่าการนำเสนอของ Bobsuicide บนแอพพลิเคชั่น Instagram
นั้นเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากในการทำการตลาดออนไลน์ แต่คงไม่เหมาะกับเยาวชนในประเทศไทยเท่าไรนัก เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องค่านิยม

ข้อกังขาเสน่ห์ที่แท้จริงของการถ่ายภาพกำลังจะหมดไป

แม้ว่า
Instagram จะมีอัตราผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มของตากล้องมือสมัครเล่น หรือช่างถ่ายภาพมืออาชีพ แต่ก็ยังมีหลายเสียงของช่างถ่ายภาพมืออาชีพบางกลุ่มที่ออกมาต่อต้านและต่อว่าเจ้าแอพพลิเคชั่น Instagram
นี้ว่าเป็นอันตรายที่จะเข้ามาทำให้เสน่ห์ของการถ่ายภาพแบบเดิม และความละเมียดละมัยหายไปเพียงเพราะความทันใจเพียงอย่างเดียว

อีกทั้งยังต่อว่าถึงแอพพลิเคชั่น
Instagram ตัวนี้ว่า ภาพถ่ายที่ปรากฏออกมานั้นล้วนเป็นภาพถ่ายที่ถูกเสริมเติมแต่งไปด้วยเอฟเฟ็กต์จากการปรับแต่งภาพซะจนเกินงาม และเกินกว่าความเป็นจริง กลุ่มผู้ต่อว่ามอง Instagram เป็นเพียงของเล่นบนโทรศัพท์มากกว่าจะนำมาเป็นเครื่องมือที่เอาไว้สร้างผลงาน
มีกระแสด้านลบ ก็มีคนคบเพราะด้านบวก

แม้ว่าจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นเกี่ยวกับฟังก์ชั่นของการแบ่งปันที่ฉาบฉวย ขาดซึ่งความละเอียดอ่อนในสายงานอาชีพช่างถ่ายภาพ แต่ยังไงเสีย
Instagram
ก็ยังคงมีผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล่าตากล้องที่ใช้เป็นเวทีโชว์ผลงานย่อย ๆ อีกทั้งนักการตลาดออนไลน์เริ่มมีการมองหาช่องทางที่จะสร้างรายได้ และปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ผ่านสมาร์ทโฟนได้ดีมากขึ้น

เพราะคอนเทนต์และรูปภาพบนแอพพลิเคชั่น Instagram เมื่อเกิดการแบ่งปันจะสามารถกระจายแบบปากต่อปากได้รวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อเหล่าศิลปินช่างภาพมือสมัครเล่น ที่จะได้เก็บผลงานตัวเองไว้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเป็นช่างภาพมืออาชีพในสายงานต่าง ๆ ผ่านเอเยนซี่และแมวมองต่อไป

อีกทั้งเหล่านักการตลาดก็จะได้ทำการตลาดแบบ
Viral Marketing ผ่านสมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น แทนการใช้โฆษณาบนป้ายโฆษณาแบนเนอร์บนเว็บฯ และสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นการโฆษณาแฝงลงในภาพถ่ายสวย ๆ ผ่านเหล่าตากล้องบนสมาร์ทโฟน (PhoneGrapher)
ได้สบายขึ้นอีกด้วย

แอพพลิเคชั่น
Instagram สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้าง Portfolio และเครื่องมือในการทำการตลาด Viral Marketing ชั้นดี หากว่ามีการจัดระเบียบการใช้งาน ช่องว่างในการเข้าไปแทรกตัวในสายงานและธุรกิจผ่าน Instagram ในประเทศไทยตอนนี้เหมาะเจาะที่จะต้องเข้าไปจองพื้นที่โดยด่วนที่สุด เพราะที่ต่างประเทศเขาเริ่มมีการสร้าง Portfolio
และทำการตลาดอย่างจริงจัง ส่วนเมืองไทยนั้นอีกสักพักก็คงจะมา

ตอนนี้ก็คงต้องเต็มไปด้วยภาพสาว ๆ น่ารัก ๆ ถ่ายตัวเองในหน้ากระจกในห้องน้ำ อวดกันไปก่อน แต่ผู้เขียนก็นึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่ค่อยเห็นสาวน้อยในแอพพลิเคชั่น Instagram ถ่ายภาพตัวเองตอนตื่นนอนบ้างเลย...
Source: บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์

Wednesday, December 21, 2011

Premiums โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหุ้นบางกลุ่ม หรือบางตัว จึงมีราคาสูงหรือแพงกว่าหุ้นตัวอื่น และดูเหมือนว่าจะแพงกว่า "พื้นฐาน" ที่ควรจะเป็น
ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องยาว และบางทีผมอาจรู้ไม่จริง แต่สิ่งที่ผมอยากพูดถึง ก็คือ หุ้นตัวไหน หรือประเภทไหนที่มีคุณสมบัติแบบนั้น นั่นคือ หุ้นแบบไหนที่มักมีราคาหุ้น "สูงกว่าปกติ" วัดจากค่า PE ค่า PB หรือมูลค่าอื่นๆ ซึ่งส่วนที่สูงเกินจากปกตินี้ ในทางการเงินเรียกว่า "Premium"
Premium ตัวแรกที่จะพูดถึง เพราะเป็น Premium ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า "Super Stock Premium" นี่คือ "มูลค่าส่วนเกิน" ที่ตลาดให้กับหุ้นที่เป็น Super Stock หรือเป็นหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพ "ดีสุดยอด" ซึ่งหมายถึงกิจการที่มีคุณสมบัติหลายๆ อย่าง เช่น เป็นกิจการขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก มีอำนาจตลาดสูง เพราะลูกค้าไม่เปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้ง่าย มียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง สินค้าไม่ถูกควบคุมด้วยราคา หรือกฎเกณฑ์อื่นๆ มีกำไร หรือมาร์จินจากยอดขายสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน การขายสินค้าหรือบริการเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงลิ่ว ธุรกิจยังเติบโตดี หรือเป็นกิจการแห่งอนาคต

กิจการที่นักลงทุน "ยอมรับ" แล้วว่าเป็นหุ้น Super Stock แทบทั้งหมด จะมี Premium สูง นั่นคือ ราคาหุ้นจะสูงจนทำให้ค่า PE และค่า PB สูงมากจนบางครั้งนักลงทุนที่เป็น VI สไตล์ เบน เกรแฮม ซึ่งเน้นซื้อหุ้นราคาถูก "รับไม่ได้" เพราะเมื่อคำนวณหา "มูลค่าพื้นฐาน" ของหุ้นที่เป็นตัวเลขแล้ว พบว่าดูอย่างไรก็ "Over Value" อยู่ดี Premium ของซูเปอร์สต็อก ก็ยังอยู่ยาวนานไม่หายไปง่ายๆ ไม่ว่าในหุ้นไทยหรือต่างประเทศ ดังนั้น คนที่วิเคราะห์หามูลค่าที่เหมาะสมของซูเปอร์สต็อก ต้องรู้ว่ามี Premium ส่วนนี้อยู่

Premium ตัวต่อไป โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ผมคงยกให้กับ "Speculation Premium" นี่คือ ราคาหุ้น "ส่วนที่เกินพื้นฐาน" ที่เกิดขึ้น เพราะหุ้นตัวนั้นมี "การเก็งกำไร" สูงกว่าปกติ เหตุผลที่ตลาดให้ราคาหุ้นเก็งกำไรสูงกว่าปกติ เพราะนักเล่นหุ้นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย ชอบเล่นหุ้นที่มีราคาหวือหวาขึ้นลงเร็วมากกว่าหุ้นที่ค่อยๆ เติบโตเรื่อยๆ พวกเขายินดีที่จะจ่าย "Premium" ซึ่งคล้ายๆ กับ "ค่าต๋ง" ในการเล่นการพนันให้กับนายบ่อนเวลาเล่นการพนัน Premium ที่พวกเขาจ่ายคล้ายๆ กับ "ค่าธรรมเนียม" ในการได้เล่นหุ้นที่ขึ้นลงเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมหาศาล ที่ทำให้เขาเข้าหรือออกได้ตลอดเวลา รวมทั้งใช้มาร์จินซื้อขายหุ้นได้เต็มที่ Speculation Premium มักอยู่ไม่ถาวร เมื่อการเก็งกำไรลดลง ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด Speculation Premium ของหุ้นก็อาจจะหายไปได้

Premium ตัวต่อไป คือ “Institution Premium” นี่คือ หุ้นมีราคาเกินพื้นฐาน เพราะการที่หุ้นตัวนั้น แต่เดิมไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน กลายเป็นหุ้นที่สถาบันการสนใจซื้อหุ้นลงทุน ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เข้าไปอยู่ในดัชนีเช่น MSCI SET50 SET100 หรือกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการควบรวม หรือขยายตัวรวดเร็วจนเข้าเกณฑ์ที่สถาบันลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศสนใจลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท ผลกระทบจากการนี้ จึงทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงโดยเฉพาะในครั้งแรก

Premium อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ "Owner Premium" หรือราคาหุ้นที่สูงเกินจากพื้นฐานปกติ เพราะ "มีคนยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ" พูดแบบนี้อาจทำให้งง เพราะหุ้นทุกตัวมีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว แต่ความหมายของผม คือ หุ้นนั้นเดิมไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่พอที่จะควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ แล้วอยู่ๆ ก็มีคนอื่นเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้ได้สิทธิควบคุมบริษัทแทนผู้บริหารเดิม คนที่เข้ามาเพื่อที่จะเทคโอเวอร์บริษัทนั้น เขายอมจ่ายแพงกว่าปกติ เพราะคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพื้นฐานของบริษัทให้ดีขึ้นได้ และทำให้คุ้มค่าที่จะจ่าย หรือบางคนอาจคิดว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัท ทำให้เขาได้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นการส่วนตัว เช่น "เล่นหุ้น" ตัวนั้นให้ได้กำไร หรือ "กินเงินเดือน" หรือรับประโยชน์อย่างอื่นในบริษัทในฐานะผู้บริหาร ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทนั้น ในฐานะคนนอกที่เป็นนักลงทุน ต้องระวังว่า Premium ส่วนนี้อาจหายไปได้ง่ายๆ เมื่อการเทคโอเวอร์จบลง

Premium ตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ "Celebrity Premium" นี่เป็นคำที่ผมเรียกเอง ซึ่งอาจไม่ตรงนัก แต่ความหมายของผมคือ หุ้นมีราคาสูงเกินจากพื้นฐาน พราะหุ้นตัวนั้นถูกซื้อโดย "เซียน" ที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นเชื่อถือมาก ทำให้นักเล่นหุ้น หรือนักลงทุนคนอื่นแห่เข้าซื้อตาม ผลคือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่มีข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ราคาหุ้นก็มักวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว และผมเชื่อว่าหลายครั้งราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐาน ส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ในอดีตช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กกว่านี้และเรามีแต่ "นักเล่นหุ้น" ถ้ามีข่าวว่า "เสี่ย" คนนั้นคนนี้เข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้น จะวิ่งไปแรงและเร็วมาก ถ้าเป็นช่วงที่ Value Investment กลายเป็น "กระแสหลัก" ถ้ามีข่าวว่ามี "เซียน VI" เข้าไปเล่นกันมาก หุ้นตัวก็วิ่งไปแรงเกินกว่าพื้นฐานได้เหมือนกัน

การหากำไรจาก Premium ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ไปซื้อหุ้นที่มี Premium สูงลิ่วอยู่แล้ว ตรงกันข้าม Premium บางประเภท เมื่อเวลาผ่านไปกลับลดน้อยถอยลง แทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนได้ วิธีทำกำไรจาก Premium เป็นกอบเป็นกำ คือ การมองหาหุ้นที่มีศักยภาพสูงที่จะได้รับ Premium ในอนาคต เพราะหุ้น หรือบริษัทกำลังมีพัฒนาการ จะนำไปสู่การเป็นหุ้นที่มี Premium เช่น บริษัทมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดในที่สุดบริษัทกลายเป็น Super Stock หรือในไม่ช้าบริษัทก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน หรือบริษัทจะเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ที่จะเกิดขึ้น การซื้อหุ้นโดยมุ่งเน้นแต่ทำกำไรจาก Premium ที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะ Premium อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย การลงทุนจึงต้องเน้นเรื่องพื้นฐานกิจการเป็นหลัก โดย Premium ควรเป็นผลพลอยได้ ซึ่ง บางครั้งให้ผลตอบแทนยิ่งไปกว่าพื้นฐานหลัก

Source: โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Tuesday, December 20, 2011

One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 2)

บทความสรุปดีๆที่นำมาฝากกัน มาจากหนังสือที่ไม่มีใครไม่รู้จักถ้าอยู่ในแวดวงการลงทุน One Up Wall Street: เหนือกว่าวอลสตรีท โดย SiTh LoRd P@cK จาก stock2morrow.
One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 2)
Peter Lynch กล่าวไว้ว่า หุ้นที่เขาจะไม่ซื้อเลย มีอยู่ 3 ประเภท คือ หุ้นร้อน หุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง และหุ้นกระซิบ
หุ้นร้อน คือ หุ้นที่มีการกล่าวขวัญในสังคมมากที่สุด ตัวที่นักลงทุนได้ยินจากมันตามทถานที่ต่างๆ โทรทัศน์ เว็บบอร์ด หน้าหนังสือพิมพ์ และสุดท้ายนักลงทุนเหล่านั้นก็อดใจไม่ไหว กระโดดลงไปร่วมวงกับมันด้วย หุ้นร้อนเป็นหุ้นที่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มันไม่ได้ขึ้นเพราะพื้นฐาน แต่มันขึ้นเพราะความหวังและความฝันของนักลงทุนบางอย่างเกี่ยวกับมัน ถ้าคุณไม่เก่งพอที่จะขายหุ้นร้อน (ซึ่งในความเป็นจริงถ้าคุณซื้อมันก็แสดงว่าคุณไม่เก่ง) ในไม่ช้าจากที่กำไร ก็จะกลายเป็นขาดทุน

ผมจะยกตัวอย่างแบบง่ายๆให้ฟัง ดังนี้ครับ เมื่อหลายปีก่อน อุตสาหกรรมการผลิตพรมเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงมาก มีการค้นพบเทคโนโลยีในการทอพรมในราคาที่ต่ำจากเมื่อก่อน ต้นทุนในการถักพรมคือ 20 เหรียญ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ต้นทุนเหลือแค่ 4 เหรียญ หมายความว่าผู้บริโภคก็นิยมซื้อใช้กันตามครัวเรือนไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ใช้พรมในการปูพื้นทั้งนั้น เพราะมันถูกกว่าการปูพื้นด้วยไม้ เมื่อก่อนมีบริษัทที่ผลิตพรมเพียงแค่ 4-5 บริษัท แต่หลังจากที่ธุรกิจพรมบูมสุดขีด กำไรพุ่งกระฉูด คนอื่นๆก็เลยจะลอกเลียนแบบตามเปิดบริษัทผลิตพรมด้วยเพราะเห็นมันกำไรดี จากคู่แข่งเพียง 5-6 แห่ง พุ่งขึ้นมา 200 กว่าแห่ง สุดท้ายก็ไม่มีใครได้กำไรจากธุรกิจพรมเลยแม้แต่แดงเดียว เพราะทุกบริษัทต่างก็พยายามลดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งทั้งสิ้น
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าคุณประสบความสำเร็จในธุรกิจ คุณก็ต้องเจอคนเลียนแบบแน่นอน


บริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง
Peter Lynch เรียกบริษัทเหล่านี้ว่า Diworseifications(ยิ่งกระจายยิ่งแย่) บริษัทที่จริงใจต่อผู้ถือหุ้นจริงๆ มักจะเป็นบริษัทที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ สมเหตุสมผล หรือไม่ก็มีการซื้อหุ้นคืนทุกครั้ง แต่น่าเสียดายบางบริษัทไม่ได้คิดเช่นนั้น เขามักจะไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นๆเพราะเชื่อว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างโง่เขลา บางทีผู้บริหารอาจจะรู้สึกตื่นเต้นที่สามารถไปเทคโอเวอร์บริษัทได้ ไม่ว่ามันจะแพงสักแค่ไหน

ในปี 1960 ถือเป็นยุคทองของการเทคโอเวอร์ เมื่อผู้บริหารเชื่อว่าการบริหารบริษัทมันช่างง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ 10 ปีหลังจากนั้น มันก็แสดงให้เห็นว่าวอลสตรีทไม่ปลื้มเท่าไรนักกับการเทคโอเวอร์บริษัทในหลายๆบริษัท ตลาดหลัทรัพย์เกิดการถล่มในปี 1973-1974 อย่างไรก็ตามการเทคโอเวอร์หรือซื้อกิจการไม่ได้บ่งบอกว่ามันเลวร้ายเสมอไป แต่มันจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าผู้บริหารชำนาญในตัวธุรกิจนั้นอยู่แล้ว และธุรกิจตัวแม่กำลังย่ำแย่
Peter Lynch ให้ข้อเสนอแนะว่า ถ้าบริษัทจะต้องซื้ออะไรบางอย่าง ผมอยากจะให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน แต่มันจะดีมากกว่าถ้าบริษัทมีเงินสดเหลือและซื้อหุ้นคืนอย่างแข็งขัน เพราะมันเป็นความจริงใจที่บริสุทธิ์จริงๆต่อผู้ถือหุ้น


สุดท้ายหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงจริงๆคือ
"หุ้นกระซิบ" เป็นหุ้นที่หวังผลระยะยาวในความคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น คุณมักจะได้ยินบ่อยๆว่า บริษัทผลิตยาสามารถผลิตยาต้านมะเร็ง รักษาโรคเอดส์ได้ แต่มันมีอยู่จริงหรือเปล่า สามารถผลิตได้จริงๆ หรือเป็นแค่โปรเจคในเศษกระดาษ นักลงทุนเป็นพวกไวต่อข่าวสาร ในบางครั้งสิ่งที่จะผลิตยังเป็นแค่แผนงานในกระดาษไม่สามารถผลิตได้จริง ราคาหุ้นก็นำไปก่อนซะแล้ว และถ้าบริษัทไม่สามารถผลิตยารักษาโรคเอดส์ได้จริงๆ คุณลองคิดดูว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น! ผมขอเรียกหุ้นเหล่านี้ว่า "หุ้นขายฝัน"

หุ้นกระซิบทำให้นักลงทุนโดนสะกดจิต และให้ความรู้สึกทางด้านอารมณ์ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงจนลืมมองสิ่งรอบข้างไป สิ่งที่ผมพยายามเตือนตัวเองคือ ถ้าบริษัทมันดีเยี่ยมจริงๆมันก็จะเป็นการลงทุนที่ดีในปีหน้าและปีต่อๆไป ทำไมเราไม่เลื่อนการซื้อหุ้นออกไปก่อนจนกว่าอะไรมันจะชัดเจนกว่านี้ เมื่อคุณยังสงสัยก็ควรรอการซื้อไปก่อน
หุ้น IPO ของบริษัทใหม่ๆก็เช่นเดียวกัน มีความเสี่ยงสูงมากเพราะว่ามันไม่มีธุรกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จากประสบการณ์ของ Peter Lynch แล้ว 3 ใน 4 ของหุ้น IPO ในระยะยาวแล้วน่าผิดหวัง


Source: SiTh LoRd P@cK (stock2morrow)