Friday, November 25, 2011

VI คืออะไร โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

VI (วีไอ) ย่อมาจาก “Value Investment” หรือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่านักลงทุนที่ใช้แนวทางนี้ เรียกขานกันว่า “Value Investor” หรือ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าใช้ตัวย่อว่า “VI” เช่นกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึง VI เราอาจหมายถึงประเภทของ แนวทางการลงทุนหรือประเภทของ นักลงทุน ก็ได้

VI แตกต่างจากการลงทุนทั่วๆ ไปอย่างไร

VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ คุณค่า หรือ มูลค่า ของกิจการเป็นหลัก ซึ่งจะทราบได้จากการศึกษาให้เข้าใจถึง ตัวธุรกิจของบริษัทที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้น เช่น หากเราสนใจซื้อหุ้นบริษัท A ก็ต้องพิจารณาว่าบริษัท A ทำธุรกิจอะไร ธุรกิจของบริษัท A มีศักยภาพในการเติบโตขนาดไหน บริษัท A ทำกำไรได้ปีละเท่าไร มีเงินสดและหนี้สินมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารของบริษัทเป็นอย่างไร ฯลฯ ก่อนจะประเมิน มูลค่าที่แท้จริงออกมา

นี่คือการพิจารณา คุณค่าหรือ มูลค่า ของธุรกิจ แทนที่จะดูแค่ ราคาหุ้นเหมือนนักลงทุนระยะสั้นทั่วๆ ไป

คุณซื้อ หุ้น จริงหรือ

การจะเข้าซื้อหุ้นโดยใช้แนวทาง VI จึงต้องมองให้ออกว่าเรากำลังซื้อ บริษัทไม่ได้ซื้อแค่ หุ้นหากคิดได้อย่างนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับทัศนคติให้เป็นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ สักตัวอย่างหนึ่ง สมมุติมีเพื่อนของคุณมาเสนอขายกิจการร้านอาหารที่เขาทำอยู่ให้กับคุณด้วยเงิน 1 ล้านบาท คุณคงไม่ซื้อมันเพียงเพราะคิดว่าในวันรุ่งขึ้นคุณจะขายมันได้ในราคา 1.2 ล้านบาท ใช่ไหมครับ?

ก่อนตัดสินใจซื้อกิจการ คุณย่อมต้องเข้าไปดูที่ร้านว่ามีลูกค้ามากน้อยขนาดไหน ต้องขอเพื่อนดูบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน เพื่อจะได้ทราบว่าหากลงทุนไปแล้วจะได้รายได้เดือนละเท่าไร จะมีรายจ่ายเดือนละเท่าไร เหลือเป็นกำไรเดือนละเท่าไร และจะใช้เวลานานเท่าไรจึงจะ คุ้มทุนหรือได้เงิน 1 ล้านบาทคืน

และแน่นอน หากคุณไม่ไว้ใจเพื่อนคนนี้ หรือเกรงว่าเขาจะหลอกลวงคุณ คุณย่อมไม่ยอมควักเงิน 1 ล้านบาทเพื่อซื้อร้านของเขาแน่ๆ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็เช่นเดียวกับการเข้าไปซื้อกิจการร้านอาหารของเพื่อน คือคุณต้องพิจารณาบริษัทที่คุณกำลังจะเข้าไปซื้อหุ้นให้ถ้วนถี่และรอบคอบ โดยคิดเสมอว่าหากเราซื้อมัน มันจะกลายเป็นกิจการของเรา (ซึ่งตามทฤษฏีแล้วมันก็คือกิจการของคุณจริงๆ แม้คุณจะมีหุ้นอยู่ไม่มากก็ตาม) หากบริษัทได้กำไร ก็คือกำไรของเรา หากบริษัทขาดทุน เราก็ขาดทุนด้วย

วิธีวิเคราะห์ธุรกิจแบบ VI

การจะทราบถึงคุณภาพของธุรกิจนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น การอ่านรายงานประจำปีของบริษัท การวิเคราะห์งบการเงิน รวมทั้งวิธีง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านบัญชี อาทิ ลองซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาใช้ หรือลองเข้าไปสำรวจกิจการด้วยตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น คุณสนใจจะซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านขายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หนึ่ง คุณก็ควรลองเข้าไปเดินดูในร้านนั้นๆ เพื่อจะได้เห็นว่ามีลูกค้ามากน้อยขนาดไหน พนักงานให้บริการดีหรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หากคุณเดินเข้าไปในร้านแล้วเจอกับบริการแย่ๆ คุณอาจเลิกล้มความคิดที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเลยก็ได้

นอกจากนี้ คุณอาจรวมกลุ่มกับนักลงทุนคนอื่นๆ เพื่อทำเรื่องขอเข้าพบผู้บริหารของบริษัทเพื่อพูดคุยและสอบถามถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ของเขาก็ได้ บางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มักมีโครงการ Company Visit พานักลงทุนเข้าไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัท นี่ก็เป็นโอกาสงามที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ควรพลาด

เลือกของ ถูกและ ดี

หลักดั้งเดิมของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คิดค้นขึ้นโดย
เบนจามิน เกรแฮมคือต้องซื้อหุ้น ณ ราคาที่ ต่ำกว่า มูลค่าแท้จริงของกิจการ  เช่น หากเราประเมินแล้ว หุ้นของบริษัท B มีมูลค่าอยู่ที่หุ้นละ 10 บาท แต่ราคาหุ้นของบริษัท B ในตลาดวันนี้ ซื้อขายกันอยู่ที่หุ้นละ 7 บาท นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าสามารถเข้าซื้อหุ้นของบริษัท B ได้ เพราจะได้หุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าแท้จริง (ที่เราคำนวณเอง) ถึง 3 บาท หรือ 30 % ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในสมัยใหม่ เราต้องเอา ปัจจัยเชิงคุณภาพของกิจการมาพิจารณาด้วย เช่น บริษัทมีแบรนด์ที่เป็นที่นิยมหรือไม่ ทำการตลาดเก่งหรือไม่ ผู้บริหารเก่งหรือไม่ มีพฤติกรรมฉ้อฉลหรือไม่ มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขนาดไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะมากกว่า งบการเงินเสียด้วยซ้ำ โดยมิได้ดูแค่ ราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทจะไม่ต่ำ แต่นักลงทุนมองแล้วว่าบริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก กำไรยังโตต่อไปได้อีกไกล ก็อาจคุ้มค่าหากจะเข้าไปลงทุนในบริษัทนั้น นี่คือส่วนหนึ่งของการลงทุนแบบเน้นการเติบโตในแนวทางของ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ซึ่งเป็นหลักที่ทำให้บัฟเฟตต์ร่ำรวยขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าซื้อ ของดีในราคาที่ แพงเกิน ผลตอบแทนที่ได้รับก็ย่อมต่ำลง นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่อยากประสบความสำเร็จ จึงต้องหาความสมดุลระหว่าง ราคาหุ้นกับ คุณภาพของกิจการที่เข้าไปซื้อให้ดี จึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้

ต้อง ถือ นานขนาดไหน เมื่อไรจึงควร ขาย

หลายคนมักสงสัยว่า การเป็น VI นั้น ต้องถือหุ้นนานแค่ไหน คำตอบก็คือ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะไม่ขายหุ้นที่ซื้อไว้ จนกว่า ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป ในทางลบ

ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2546 สมชายซื้อหุ้นของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ก.ไก่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศ ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะมีผู้บริโภคติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก และจำนวนผู้อ่านยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้ว ใน พ.ศ. 2556 สมชายก็พบว่า เทคโนโลยี 4
G ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มอ่านข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ก.ไก่ จึงลดลงอย่างน่าใจหาย บรรดาสปอนเซอร์ก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์กันน้อยลง รายได้ของบริษัทจึงลดต่ำลงมาก เช่นนี้แล้ว ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่สมชายจะขายหุ้นของบริษัท ก.ไก่ ทิ้งเสีย เพราะ ปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงจากตอนที่ซื้อ กล่าวคือบริษัทสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีไปเสียแล้ว


อย่างไรก็ตาม หากเป็นเหตุการณ์ที่มากระทบกับธุรกิจเพียงชั่วครั้งชั้วคราว ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหรืออนาคตของบริษัท แต่ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำลง เช่นนี้แล้ว นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็ไม่ควรจะขายหุ้นทิ้ง อาทิ เรามีหุ้นของบริษัท ห้างสรรพสินค้า C” ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีอนาคตดี มีลูกค้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่แล้วได้เกิดการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของห้าง ส่งผลให้คนไม่กล้ามาซื้อของ ผลประกอบการของห้าง C จึงลดลง 20% เป็นเวลา 1 ไตรมาส ทำให้ราคาหุ้นลดลงด้วย ทว่าเมื่อวิกฤตการเมืองผ่านพ้นไป ห้าง C ก็กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และเติบโตยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เช่นนี้แล้ว การขายหุ้นของห้าง C ทิ้งเพียงเพราะผลประกอบการที่ลดต่ำลงชั่วคราว กลับกลายเป็นการ ทิ้งของดีไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น การตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทที่เราเป็นเจ้าของอยู่ จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทในระยะยาวหรือเป็นการถาวร หากเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ก็ไม่ควรขายหุ้นทิ้งแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากราคาลดต่ำลงมากๆ กลับจะเป็นโอกาสอันดีที่จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมเสียด้วยซ้ำ
******************************
ชัชวนันท์ สันธิเดช

6 วิธีใช้ประโยชน์จาก Twitter

หากคุณเคยได้ยินคำนี้และยังสงสัยถึงประโยชน์ของทวิตเตอร์ (Twitter)? ซึ่งจริงๆแล้วมันมีมากไปกว่าแค่ใช้ดูว่าคนแปลกหน้ากินอะไรเป็นอาหารกลางวัน เพราะคุณสามารถติดตามข่าวด่วน ใช้เป็นช่องทางร้องเรียนไปถึงบริษัทผู้ผลิต หรือแม้แต่แชตกับคนดัง
ทวิตเตอร์มีแต่เรื่องไร้สาระ ทวิตเตอร์เป็นที่ให้คนใช้ยกหางบูชาตัวเอง และอื่นๆ อีกนานาสารพัดที่คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กแห่งนี้ แต่จริงๆ แล้วทวิตเตอร์จะเป็นประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อถ้าคุณใช้งานเป็น และมองข้ามเรื่องที่หลายคนพูดไป (ซึ่งก็จริง เราไม่เถียง) เพราะโดยธรรมชาติของบริการแห่งนี้ จะเอื้อต่อการฝากข้อความสั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เหมาะสำหรับใช้เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้า หรือใช้ติดตามเหตุการณ์ที่คุณสนใจจากคนที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ รวมไปถึงใช้ตามดูชีวิตของบุคคลที่คุณสนใจเป็นพิเศษ และนี่คือ 6 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้ทวิตเตอร์มีประโยชน์สำหรับคุณ
ติดตามข่าว
เว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่ยังถือเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งข่าวที่สมบูรณ์กว่า แต่ถ้าคุณต้องการตามข่าวเฉพาะเรื่องในแบบหายใจรดต้นคอ และสนใจแม้แต่รายละเอียดยิบย่อย ทวิตเตอร์จะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะคุณสามารถอ่านรายงานสดจากยูสเซอร์ของทวิตเตอร์คนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือสถานที่เกิดเหตุ เช่นกรณีเครื่องบินตกที่แม่น้ำฮัดสัน ผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะโพสต์เล่าเรื่องราวที่พบเห็นไว้ในทวิตเตอร์ของ พวกเขา (คอนเซ็ปต์ของทวิตเตอร์ก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันด้วยข้อความสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษรต่อหนึ่งอัพเดต)
นอกจากประชาชนคนธรรมดาแล้ว คุณยังสามารถติดตามทวิตเตอร์ของไซต์ข่าวอย่าง CNN (www.twitter.com/cnn หรือเรียกย่อๆ ว่า @CNN) ซึ่งจะโพสต์หัวข้อข่าวพร้อมกับลิงก์ไปยังเนื้อหารายละเอียด แต่เราชอบ @cnnbrk มากกว่า แม้จะไม่ได้เป็นทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของสถานีข่าวแห่งนี้ แต่ก็ดีตรงที่จะสรุปข่าวให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ ในประโยคเดียว ไม่ต้องตามลิงก์ไปอ่านอีก (เว้นแต่ว่าคุณสนใจรายละเอียด)
@NYTimes ก็เป็นอีกจุดที่คุณจะพบหัวข้อข่าวด่วนทุกชั่วโมง แถมด้วยทวิตเตอร์ของนักเขียนและของคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพล ฉบับนี้ ที่น่าสนใจอื่นๆ สำหรับเรื่องของข่าวก็จะมีอย่างเช่น @BreakingNewsOn, @nprnews, @weirdnews, @macrumors, @MarsPhoenix, @Astronautics และแน่นอนว่าพีซีแมกะซีนเองก็มีทวิตเตอร์รายงานข่าวในด้านเทคโนโลยีด้วยเช่น กัน (@PCMag)
ช่องทางติดต่อกับบริษัทผู้ผลิต
การ ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางให้บริการหลังการขายอย่างเต็มรูปแบบ อาจยังฟังดูไม่ค่อยเข้าทีเท่าไรสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็จนกว่าบริการแห่งนี้จะมีสมาชิกเพิ่มอีก 10 ล้านราย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน คุณสามารถใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการร้องเรียนได้ และเสียงของคุณก็จะดังไปถึงเจ้าของสินค้า เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Zappos, Starbucks, Whole Foods, JetBlue และอื่นๆ อีกมากมาย (มากมายจริงๆ) ล้วนแล้วแต่มีแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ให้คุณใช้ในการติดต่อ
ดัง นั้นต่อจากนี้ไป ถ้าคุณมีเรื่องอยากร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ลองใช้กูเกิ้ลเสิร์ชชื่อของบริษัทเจ้าของสินค้า แล้วตามด้วยคำว่า Twitter ถ้าบริษัทดังกล่าวมีแอ็กเคานต์บนทวิตเตอร์ คุณก็จะพบในผลการค้นหาลำดับต้นๆ ที่สำคัญคือ พยายามเรียบเรียงเรื่องร้องเรียนของคุณให้กระชับได้ใจความ เพราะคุณต้องไม่ลืมว่าข้อความจะถูกจำกัดไว้แค่ไม่เกิน140 ตัวอักษร
ขอความช่วยเหลือ
เช่น เดียวกับบล็อกและฟอรัม ทวิตเตอร์คือสถานที่ที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการถามคำถามที่คุณขี้เกียจ ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือ (เช่น มีใครว่างช่วยขนของย้ายบ้านวันศุกร์ไหม?”) ขอความคิดเห็น (กล้วยแบบออร์แกนิกมีรสชาติดีกว่าหรือเปล่า?”) หรือขอคำแนะนำ (ใส่แรมให้กับแมคบุ๊กใหม่เท่าไรดี?”) เป็นต้น
โอเว่น ริ้งเคิ้ล ผู้พัฒนาทวิตเตอร์บอกกับเราว่า ปัญหาที่คุณเคยใช้เวลาคิด 5 นาที อาจได้คำตอบออกมาภายในเวลา 10 วินาทีบนทวิตเตอร์ แต่นี่หมายถึงอย่างน้อยคุณต้องมีเพื่อนๆ ในชีวิตจริงตามดู (follow) ทวิตเตอร์ของคุณอยู่ และแน่นอนว่าถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณก็ควรตามดูทวิตเตอร์ของเพื่อนด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โปรโมตผลงานหรือบริษัทของคุณ
เช่น เคยคือ ทวิตเตอร์ไม่ใช่บริการแรกที่ให้คุณใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้ แต่ด้วยธรรมชาติของตัวมันเอง ทำให้ทวิตเตอร์เป็นทางเลือกที่เหมาะมากสำหรับการโปรโมตผลงานหรือประชา สัมพันธ์บริษัทของคุณ ขอแค่คุณทำแบบไม่กระโตกกระตาก มีลิงก์ไปยังแอพพลิเคชันที่คุณเพิ่งเขียนเสร็จ หรือสินค้าตัวใหม่ของบริษัทบ้างในบางโอกาส ผสมผสานไปกับเรื่องราวอื่นๆ ของคุณ ถ้าเป็นไปได้ พยายามอย่าให้ลิงก์โปรโมตงานมีเกินกว่า 3 ลิงก์ต่อสัปดาห์ เพราะนั่นจะเป็นการยัดเยียดและทำให้คนที่ตามดูคุณรู้สึกไม่ดีเปล่าๆ หรือหนักๆ เข้าก็อาจไม่สนใจที่จะตามคุณอีก
ไม่ขาดการติดต่อกับเพื่อนฝูง
นอก จากดูเรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวันของคนแปลกหน้าเพื่อความบันเทิงแล้ว ทวิตเตอร์ยังเป็นช่องทางโปรดที่เราชอบใช้เพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อจากเพื่อน ฝูง แค่เขียนข้อความบอกเล่าเรื่องราวสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อนๆ ก็จะรู้ความเป็นไปของคุณ ว่ากำลังทุกข์หรือสุขแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม คุณก็สามารถรู้ได้ว่ามีเพื่อนคนไหนเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่หรือเปล่า หรือคนไหนกำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าและต้องการกำลังใจ ต้องการให้คุณไปหา นี่ยังไม่นับรวมถึงการใช้ชวนกินข้าว หรือชวนทำกิจกรรมอื่นๆ
พบคนดัง
ยู สเซอร์ชื่อดังของทวิตเตอร์ที่มีคนตามดูเป็นจำนวนมากบางรายอาจไม่สนใจข้อความ ที่คุณส่งไปถึง แต่ไม่ใช่กับเบรนท์ สปินเนอร์ (ดาราจากสตาร์เทร็ก) ซึ่งค่อนข้างเป็นมิตรทีเดียว เช่นเดียวกับดาราตลกอย่างสตีเฟ่น ฟราย หรือถ้าคุณมีไอดอลหรือฮีโร่ในดวงใจ ลองเสิร์ชหาทวิตเตอร์ของเขาเหล่านั้น แล้วติดตามดูว่า พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณอยากเข้าสังคมออนไลน์แห่งนี้ แต่ยังรู้สึกขัดๆ เขินๆ และก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี ลองดู 10 ทิปที่เราแนะนำในบทความนี้ เชื่อว่าน่าจะทำให้คุณใช้งานทวิตเตอร์ได้คล่องขึ้นราวกับว่าใช้งานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
1. ย่อ URL ให้สั้นลง
ใน การใช้งานทวิตเตอร์ เรื่องหนึ่งที่คุณหนีไม่พ้นก็คือการแชร์ลิงก์ แต่เนื่องจากในแต่ละทวีต คุณเขียนข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร ถ้า URL ที่คุณต้องการแชร์ยาวเหยียด ใช้บริการย่อ URL ให้สั้นลง เพื่อที่คุณจะได้มีพื้นที่สำหรับเขียนข้อความมากขึ้น ที่เราชอบก็อย่างเช่น tinyurl.com, is.gd, ow.ly และ bit.ly
2. RT = Retweet
ถ้า คุณพบทวีตที่ถูกใจ และต้องการก๊อบปี้ไปแปะ (paste) ไว้บนไซต์ของตัวเอง หรือที่ไหนก็ตาม คุณสามารถทำได้ไม่มีปัญหา ตราบใดที่คุณให้เครดิตกับผู้เขียนข้อความในทวีตนั้น ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว จะใช้การใส่คำว่า RT แล้วตามด้วยชื่อทวิตเตอร์ของเจ้าของทวีต เช่นถ้าคุณนำทวีตของเราไปใช้ คุณก็ควรใส่คำว่า RT @PCMag ไว้น่าทวีตนั้น
3. ส่งเมสเซจส่วนตัว
ด้วย ฟังก์ชัน Direct Messages ของทวิตเตอร์ คุณสามารถส่งข้อความส่วนตัวที่มีขนาดไม่เกิน 140 ตัวอักษรไปยังผู้ใช้ทวิตเตอร์คนอื่นๆ ได้ ลักษณะจะคล้ายกับอีเมล์ฉบับย่อ แต่มีข้อแม้ว่าคนที่คุณจะส่งข้อความถึงได้นั้น ต้องเป็นยูสเซอร์ที่ตามดู (follow) คุณเท่านั้น
4. ใช้สัญลักษณ์ @
ถ้า คุณต้องการอ้างถึง ให้เครดิต หรืออยากติดต่อกับผู้ใช้ทวิตเตอร์คนอื่นๆ ให้ใส่สัญลักษณ์ @แล้วตามด้วยชื่อทวิตเตอร์ของคนๆ นั้นไว้ในทวีตของคุณ ข้อความในส่วนดังกล่าว (@ยูสเซอร์เนม) ก็จะกลายเป็นลิงก์นำไปยังทวิตเตอร์ของยูสเซอร์รายที่ว่า และที่สำคัญคือ ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนั้นสามารถเห็นข้อความในทวีตนี้ของคุณด้วย ในทางตรงกันข้าม คุณก็สามารถเช็กได้ว่ามีใครอ้างถึงคุณในทวีตของพวกเขาบ้าง ด้วยการคลิกที่ @ยูสเซอร์เนมของคุณเองจากกรอบทางขวามือในหน้า Home
5. หาเพื่อนของคุณ
ถ้า คุณยังไม่รู้จะเริ่มต้นสังคมออนไลน์แห่งนี้อย่างไร ลองใช้ Search.twitter.com หาทวิตเตอร์ของเพื่อนคุณ ทวิตเตอร์ของคนดัง หรือของบริษัทที่คุณสนใจ เพื่อที่คุณจะได้ตามดู หรือถ้าคุณมีหัวข้อที่สนใจอยู่แล้ว ก็สามารถใช้หัวข้อนั้นเป็นคีย์เวิร์ดในการค้นหาได้เลย
6. เพิ่มโอกาสในการถูกพบให้กับทวีตของคุณ
ถ้า เรื่องที่คุณกำลังจะเขียนเป็นหัวข้อซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจ (เช่นโอบาม่า ซีรีส์เรื่อง Lost หรืออื่นๆ) การใส่เครื่องหมาย # ไว้ข้างหน้าหัวข้อนั้น (เช่น #Lost) จะทำให้คนอื่นๆ พบทวีตของคุณได้ง่ายขึ้น และบางทีเขาเหล่านั้นก็อาจตามดูคุณต่อ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเครื่องบินตกที่แม่น้ำฮัดสัน #flight1549 ได้กลายมาเป็นแท็กยอดฮิต เช่นเดียวกับเป็นคีย์เวิร์ดที่ผู้คนจำนวนมากใช้ในการเสิร์ช
7. แชร์ภาพถ่าย
ผู้ คนส่วนใหญ่ชอบที่จะแชร์ภาพของตัวเองให้กับคนทั้งโลกได้ดู และบางคนก็โด่งดังจากการเรื่องนี้ อย่างเช่นกรณีของจานิส คลุมส์ ซึ่งใช้ TwitPic โพสต์ภาพของเที่ยวบิน 1549 ไว้บนทวิตเตอร์ของเขาได้ก่อนใครเพื่อน เช่นเดียวกันคุณสามารถใช้ TwitPic รวมถึงอีกหลายๆ บริการที่ลักษณะคล้ายกันนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการอัพโหลดและโพสต์ภาพไว้บนทวิตเตอร์
8. ทวีตจากมือถือ
ทวิตเตอร์ ให้คุณส่งข้อความตัวอักษรจากโทรศัพท์มือถือเพื่ออัพเดตทวีตของคุณ เช่นเดียวกับที่รับทวีตใหม่ของคนอื่นๆ ซึ่งคุณตามดูอยู่ได้ แต่ก่อนอื่นคุณต้องเข้าไปที่ Settings คลิกที่แท็บ Devices แล้วใส่หมายเลขโทรศัพท์ของคุณก่อน ในทางตรงกันข้าม ถ้าใช้ไปสักพักแล้วคุณรู้สึกว่าการรับทวีตของคนอื่นๆ บนโทรศัพท์มือถือ สร้างความรำคาญให้กับคุณมากกว่าการได้อัพเดตเรื่องราว คุณก็สามารถเข้ามายกเลิกได้จากในแท็บเดียวกันนี้
9. หาเดสก์ทอปไคลเอ็นต์ดีๆ มาใช้
ด้วย เดสก์ทอปไคลเอ็นต์อย่าง TweetDeck, Twhirl หรือ TwitterFox คุณสามารถรับทวีตและจัดให้เป็นหมวดหมู่หรือเป็นระบบระเบียบสำหรับการตามอ่าน ได้ ไคลเอ็นต์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากถ้าคุณตามดูทวีตของหลายคน และมีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ รวมไปถึงใช้ฟังก์ชัน direct messages อยู่บ่อยๆ
10. ดาวน์โหลดโมบายไคลเอ็นต์
ถ้า คุณมีแบล็กเบอร์รี่ ไอโฟน หรือสมาร์ตโฟนอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือทำงานบนเครือข่าย 3G เราอยากแนะนำให้ดาวน์โหลดโมบายไคลเอ็นต์ของทวิตเตอร์มาใช้ เพราะจะช่วยให้คุณทำอะไรได้มากกว่าแค่ส่งข้อความที่เป็นเท็กซ์ ไคลเอ็นต์ที่น่าสนใจก็จะมีอย่างเช่น Twitterific, TwitterBerry, PocketTweets และ Twidroid เป็นต้น
Source:  Anonymous

ทฤษฎี VI (ตอนที่ 3) โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม
ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ แปรปรวน และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น นายตลาด มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ เอาเปรียบเขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป ตามเขา
ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน
ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ ลดลงอย่างถาวร นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือนเดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น
ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง 3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น 4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุนผิดพลาดได้
ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรมและเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไรหรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI
VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรเป็นต่างหาก
ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้าหลายปีเช่นกัน
สุดท้าย ก่อนที่จะจบ ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ หุ้นตัวหนึ่งบางช่วงอาจจะเป็นหุ้นปั่นแต่บางช่วงอาจเป็นหุ้นที่คุ้มค่าสำหรับการลงทุนของ VI ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดบ่อยครั้งก็ไม่เข้าข่ายที่ VI จะซื้อลงทุนเพราะมันอาจจะมีราคาสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก อารมณ์ของฝูงชนเสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง
*******************
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร