Thursday, May 31, 2012

สรุปความจากหนังสือการลงทุนของ ดร.นิเวศน์

หัวข้อน่าสนใจในการลงทุนสรุปความโดย Artemis แห่ง forum.sarut-homesite
วันนี้ว่างๆเลยค้นหนังสือที่เคยอ่านของดร.นิเวศน์ มาเปิดดูเลยตัดสินใจนำเอาหลักการและแนวคิดของดร.มาเล่าสู่กันฟัง โดยเนื้อหาทั้งหมดจะนำมาจากหนังสือที่ดร.เขียน ซึ่งนำมาสรุปสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน จะนำมาเฉพาะหัวข้อที่คิดว่าน่าสนใจ หยิบยกมาแค่บางส่วน
หนังสือ เล่นหุ้นในปีทอง
1.บัญญัติ 10 ประการ ของการเล่นหุ้นแบบ VI
  • ศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น อย่าใช้อารมณ์ในการซื้อหุ้น อย่าโลภ
  • อย่าสนใจข่าวลือ หรือ หุ้นเด็ด
  • ให้ความสำคัญกับตัวกิจการหรือตัวหุ้นมากกว่าสภาพตลาดหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป อย่าให้ภาพของตลาดหรือเศรษฐกิจมาหันเหการตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา
  • หุ้นมักจะดูแย่กว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดตกต่ำถึงพื้นในช่วงตลาดหมี และดูดีกว่าที่คิดใรช่วงที่ตลาดวิ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงตลาดกระทิง (จงมีความกล้าหาญที่จะซื้อเมื่อทุกอย่างดูเลวร้าย และขายเมื่อทุกอย่างดูดีจนไม่น่าเชื่อ)
  • จำไว้้ว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถซื้อหุ้นในราคาพื้นฐานและขายหุ้นได้ที่จุดสูงสุด ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาจะต้องขึ้นทันที หรือขายหุ้นแล้วก็หวังว่ามันจะลง ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อม่ันกับการวิเคราะห์มูลค่าของเรา
  • ถ้ามั่นใจว่าบริษัทที่เราลงทุนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีอนาคตในการเติบโตที่ดีมาก อย่าขายเพียงเพราะว่าราคาหุ้นอาจจะดูเหมือนว่าสูงเกินไปหรือหุ้นวิ่งขึ้นมาเร็วเกินไปชั่วคราว
  • อย่า หลงรักหุ้น จน ตาบอด เพราะมันจะทำให้เราไม่สามารถวิเคราะ์กิจการได้อย่างเป็นกลางและไม่มีความลำเอียง
  • อย่าสนใจว่าหุ้นเคยอยู่ที่จุดไหนมาก่อน จงสนใจว่าหุ้นจะไปที่ไหน เช่น กิจการอาจเคยกำไร 100 ล้านบาท ราคาหุ้นอาจเคยอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น แต่ขณะนี้กำไรเหลือเพียง 10 ล้านบาท ราคาหุ้นตกลงมาเหลือ 2 บาทต่อหุ้น อย่าไปคิดว่ากิจการและหุ้นจะต้องกลับไปที่เดิมหรือใกล้ๆกับที่เดิม
  • เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง
  • ใช้เวลากับการลงทุน ตรวจสอบกิจการและหุ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกสิ่งเปล่ียนแปลงไป เราต้องปรับการลงทุนเพื่อให้สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลง

2.ชีวิตชีวาของหุ้น

     ทุกครั้งที่เราซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องคิดเสมอว่าเราลงทุนในธุรกิจ บางคนอาจจะสงสัยว่า อ่าว!หุ้น กับธุรกิจก็เหมือนกันนะ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ หุ้น มีราคาขึ้นๆ ลงๆทุกวัน แต่ธุรกิจนั้นเป็นของจริงที่มีโรงงานหรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบ มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับ ลูกค้า ซึ่งบางครั้งหรือบ่อยคร้ังอาจจะเป็นตัวเราเองก็ได้ที่เป็นลูกค้าของบริษัทที่เราซื้อหุ้น โดยบางครั้งเราอาจจะทดสอบว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนจากการสัมผัสกับกิจการ
  • ปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้นก็คือ ธุรกิจนั้นเรา ภูมิใจ ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่
  • ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์ หรือเป็น แฟชั่น หรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็ต้องระวังอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง
  • กิจการมีการเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากการเปิดร้านสาขาใหม่ๆเพื่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลใกล้เคียงและทำเลใหม่ๆที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน
  • เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึกโดนมากรู้สึกประทับใจ และยิ่งลูกค้าอื่นก็พูดคล้ายๆกันว่าประทับใจ จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการ ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทได้
  • รู้สึกว่าบริษัทมีความมั่นคงมาก
  • พนักงานของบริษัทดูดีเช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง มีความภูมิใจที่ได้ทำงานบริษัทนี้
  • กิจการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีบริการใหม่ๆมาเสนอต่อลูกค้าตลอด สินค้ายังคงมีคุณภาพ โดยเราสามารถสังเกตได้ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
หนังสือ SUPER STOCK มหัศจรรย์ของหุ้น VI
3. ลดความเสี่ยงแบบ VI

     
การลงทุนในหุ้น มีความเสี่ยงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรหรือกองทุนต่างๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเราควรจะต้องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลงเท่าที่จะทำได้ ต่อไปนี้ คือ เกณฑ์การลดความเสี่ยงง่ายๆ

          1)
รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นหลักการสำคัญ
         
          2)
กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ถือหุ้นจำนวนมากหรือน้อยตัวเกินไป ควรจะถืออยู่ระหว่าง 5-10 ตัว ถ้าถือหุ้นน้อยตัวเกินไป เช่น 1-2 ตัว เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ และการมีหุ้นมากตัวเกินไปก็มีความเสี่ยงในแง่ที่ว่า เราไม่สามารถติดตามได้ ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่รู้

          3)
พยายามมองยาว คือวิเคราะห์ไปในอนาคต 3-5 ปี และวางแผนว่าจะลงทุนยาวตามกันไป เพราะว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวไปตามกำไรของบริษัทเสมอ และถ้าเรามั่นใจในกำไรระยะยาวของบริษัท เราก็จะไม่ค่อยเสี่ยง ตรงกันข้ามในระยะสั้น หุ้นมักจะผันผวนไปตามภาวะตลาดและการเงินซึ่งคาดการณ์ยาก

          4)
เลือกบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอทั้งยอดขายและกำไร กิจการเหล่านี้มักจะ คาดการณ์ได้ง่ายและไม่ค่อยผิดพลาดมากนัก จึงมักจะสามารถทนทานต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมได้มากกว่าหุ้นของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่แน่นอน

          5)
เลือกหุ้นที่ให้ปันผลสม่ำเสมอและในอัตราที่เหมาะสม ประมาณปีละ 3-4 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเมื่อเทียบกับราคาหุ้น เพราะปันผลที่สม่ำเสมอนั้นเป็นฐานที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ราคาหุ้นไม่ตกลงมากเวลาตลาดหุ้นมีปัญหา

          6)
เลือกบริษัทที่มีเงินสดมากและมีหนี้เงินกู้น้อยหรือไม่มีเลย เพราะโอกาสที่กิจการพวกนี้จะเจ๊งมีน้อยมาก และมักจ่ายปันผลดี ช่วยให้หุ้นมีเสถียรภาพสูงกว่าหุ้นที่มีหนี้มหาศาล

          7)
เมื่อซื้อหุ้นแล้ว ถ้าจะลดความเสี่ยง เราต้องติดตามบริษัทตลอดเวลา ทั้งตัวเลขผลการดำเนินงานและข่าวสารต่างๆของบริษัท ถ้าทำได้ พยายามสัมผัสกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มากที่สุด กลับไปดูที่ร้าน กลับไปตรวจสอบความนิยม อย่าปล่อยให้ราคาหุ้นหรือตลาดหุ้นเป็นตัวกำหนดชี้อารมณ์และความคิดของเรา

          8)
ติดตามข่าวคราวทางเศรษฐกิจ การเงิน และภาวะตลาดหุ้นบ้าง

          9)
หลีกเลี่ยงการกู้เงินหรือใช้มาร์จินในการลงทุน เพราะความเส่่ียงสูง โดยเฉพาะในช่วงสั้นที่หุ้นอาจจะมีความผันผวนเนื่องจากปัจจัยต่างๆที่ไม่อาจคาดคิดได้ ต้องคิดเสมอว่า ถ้าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเวลาลงทุนถ้าเรากู้หรือใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้น เราต้องรู้ว่าเราจะรับได้แค่ไหน ถ้าเกิดวิกฤตหุ้นตัวนั้นมีค่าลดลงมากหรือพอร์ตหุ้นทั้งหมดมีค่าลดลงมาก แน่นอน โอกาสที่สิ่งเลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นมีน้อยมากแต่เราจะเสี่ยงไปทำไม
ตลาดหุ้น คือ ที่ที่อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทำการบ้าน คนโง่ และคนที่ชอบรวยทางลัด - Jessy J. Livermore”

4.
กฎของสงคราม

     
นักลงทุนหุ้นคุณค่า ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิเคราะห์กิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดของบริษัท ซึ่งก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว การแข่งขัน หรือสงครามการตลาดระหว่างบริษัทกับคู่ต่อสู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งหรือร่วง ต่อไปนี้คือกฎสำคัญที่สุดบางข้อที่นักลงทุนควรรู้

     
กฎข้อแรก ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ในสงครามการตลาด บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีงบโฆษณามหาศาล มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า รบอย่างไรก็ชนะทุกที ถึงแม้ว่าบางช่วงบางตอน เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้นๆแต่จะให้ได้ชัยชนะถึงขั้นเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องคุณภาพของคนหรือคุณภาพของสินค้า อาจทำให้เราหลงผิดได้ เราอาจจะคิดว่าฝ่ายหนึ่งที่ีมีคนเหนือกว่า หรือมีสินค้าที่ดีเด่นกว่า ฝ่ายนั้นอาจจะเป็นฝ่ายนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามักเน้นว่าปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพแต่จากการวิจัยพบว่า ต่อให้สินค้าจะดีเลิศกว่าคู่แข่งแค่ไหน แต่มันเป็นรายเล็ก มีทรัพยากรน้อยสุด สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผู้บริโภคก็อาจจะคิดว่าถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้วดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศนั้น
 
     
กฎข้อสอง ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายรุกรบ ในการสงครามนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับมักจะยึกชัยภูมิที่อยู่สูงหรือมีสนามเพาะเป็นแนวป้องกันข้าศึก เวลารบจะได้เปรียบมากเพราะเวลาศัตรูบุกเข้ามา โอกาสที่จะถูกยิงนั้นสูงกว่าเนื่องจากไม่มีที่กำบัง ในสงครามการตลาดเองนั้น ผู้นำที่ยึดชัยภูมิ’(ไม่ใช่จังหวัดแถบอีสานนะฮะ) การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้วก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายามโจมตีอย่างไรก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะคู่แข่งต้องใช้ทรัพยากรมาก อย่างเช่น มองง่ายๆถ้ามีคู่แข่งรายใหญ่มากมาจากต่างประเทศจะเข้ามาแข่งกับบริษัท CPF ซึ่งเป็นผู้นำที่โดดเด่นทางด้านการผลิตหมู ไก่ ส่งออก และมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงเว่อร์ๆในประเทศไทย ยากที่ใครจะเอาชนะได้รวมทั้งรู้สภาพแวดล้อมการตลาดในประเทศไทยเป็นอย่างดี เช่นนี้แล้วรายใหญ่จากต่างประเทศก็ตายสถานเดียว เพราะในต่างประเทศเขาอาจจะใหญ่และยึดชัยภูมิที่ดีไว้แล้ว แต่ในประเทศไทยเขาเป็นฝ่ายรุกและรายเล็ก ดังนั้นจะเกิดข้อเสียเปรียบ

     
กฎข้อสาม ศึกษาชัยภูมิของข้าศึก แล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา จากนั้นเราก็จะสามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ชัยภูมิทางการตลาดนั้น อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเคาน์เตอร์ขายสินค้า สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น ชัยภูมิของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ แต่ตอนนี้อิชิตันเริ่มมาแล้ววว หรือชัยภูมิของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน ชัยภูมิใด ประเด็นสำคัญคือ เราอยากได้ยริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ 5. การลงทุนของดร.นิเวศน์
          เมื่อดร.ได้พบกับสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจ จึงค่อยหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน โดยจะพิจารณาจากทั้งปัจจัยทางด้านคุณภาพและปัจจัยทางด้านราคา

     ปัจจัยทางด้านคุณภาพ ดูจาก
              
  • รูปแบบการทำธุรกิจ เป็นกระบวนการในการทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด ช่องทางการจำหน่่าย การบริการหลังการขาย บุคลากร รวมไปถึงรายละเอียดว่าผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไร คุณภาพ ราคาระดับไหน ง่ายๆคือ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการ
  • ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยที่บริษัทอาจจะมี
                   1) สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริษัทมียี่ห้อที่โดดเด่นที่ลูกค้าต้องการ เป็นยี่ห้อที่ลูกค้าเลือกที่จะซื้อมากกว่ายี่ห้ออื่น หรือการมีลิขสิทธิ์ สัมปทาน
                    2) สินค้าหรือบริการของบริษัท อาจจะมีลักษณะที่ทำให้ลูกค้ามีความลำบากที่จะเลิกใช้หรือเปลี่ยนผู้ให้บริการ
                    3) บริษัทมีเครือข่ายลูกค้าที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก
                    4) บริษัทมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต การให้บริการที่เกิดกระบวนการผลิตหรือให้บริการ ต้นทุนที่ต่ำกว่าเนื่องจากทำเลที่ตั้ง,ขนาดของธุรกิ
  • ผลการดำเนินงานหรือกำไรของบริษัท บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอ มั่นคง ไม่ถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้มากนัก
  • ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ถ้า ROE ของบริษัทที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในหลักประมาณตั้งแต่ 15 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็ถือว่าอยู่ในอัตราใช้ได้ แต่เวลาดู ROE ควรดูด้วยว่าบริษัทไม่ได้กู้เงินมากที่ทำให้บางครั้ง ROE สูงแต่จริงๆแล้วเป็นการเอาเงินคนอื่นมาใช้              
  • ฐานะการเงินหรือหนี้สิน ชอบบริษัทที่มีหนี้น้อย เราไม่ชอบบริษัทที่พยายามโตเร็วเกินความจำเป็นโดยการก่อหนี้มากเกินอัตราส่วนที่ควรจะเป็น              
  • ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด นั่นคือ ธุรกิจที่มักไม่ต้องลงทุนมากในการที่จะรักษายอดขายหรือขยายกิจการต่อไป เช่น ธุรกิจขายปลีก เวลาขายมักรับเงินสด แต่จ่ายค่าสินค้ากับsupplier เป็นเงินเชื่อ หุ้นของบริษัทที่มีเงินสดมากและมีกระแสเงินสดดี จะสามารถรักษาราคาดีกว่าบริษัทที่มีหนี้สูงหรือบริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินที่ต่ำ              
  • ผู้บริหาร มีความโปร่งใส เปิดเผย หรือเปิดตัวต่อสาธารณชน มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำอะไรมีเหตุมีผล คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และจัดสรรกำไรอย่างเหมาะสม

     ปัจจัยทางด้านราคา               
  • PE Ratio โดยทั่วไปแล้วหุ้นที่น่าสนใจเข้าซื้อควรจะมีค่า PE ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาด และควรจะต่ำกว่าค่า PE ในอดีตของตัวมันเอง แต่การซื้อหุ้นที่มี PE ต่ำก็ต้องดูด้วย เพราะบางครั้งอาจมีค่า PE ต่ำด้วยเหตุผลที่เลวร้าย เช่น ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดลง หรือสัมปทานของบริษัทกำลังจะหมดอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรจะหลีกเลี่ยง             
  • PB Ratio             
  • อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล             
  • มูลค่าตลาดของหุ้น หุ้นที่ดร.เห็นว่าน่าสนใจที่สุดมักจะอยู่ในกลุ่ม หุ้นขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หุ้นเหล่านี้ถ้าเติบโตถึงจุดที่กลายเป็นหุ้นขนาดกลางก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาได้ และนี่จะเป็นจุดที่สามารถขับดันให้ราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้นไปได้มาก
Source: Artemis by forum.sarut-homesite.net

25 คำคม จาก 'ขงเบ้ง'


1. ถ้าคุณคิดจะเป็นใหญ่ คุณก็จะได้เป็นใหญ่ ถ้าคุณคิดอยากเป็นอะไรคุณก็จะได้เป็นสิ่งนั้น

2.
เพราะแสวงหามิใช่เพราะรอคอย เพราะเชี่ยวชาญมิใช่เพราะโอกาส เพราะสามารถมิใช่เพราะโชคช่วยดังนี้แล้ว "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"

3.
นกทำรังให้ดูไม้ ข้าเลือกนายให้ดูน้ำใจ

4.
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด

5.
ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด

6.
ผู้ที่มีเกียรติ คือ ผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น

7.
ถ้าสติไม่มา ปัญญาก็ไม่มี

8.
ไม้คดใช้ทำขอเหล็กงอใช้ทำเคียว แต่ คนคดเคี้ยวใช้ทำอะไรไม่ได้เลย

9.
เล่นหมากรุก อย่าเอาแต่บุกอย่างเดียว เดินหมากรุกยังต้องคิดเดินหมากชีวิต จะไม่คิดได้อย่างไร

10.
เมื่อใครสักคนหนึ่ง ทำผิด ท่านอย่าเพิ่งตำหนิหรือต่อว่าเขาเพราะถ้าท่านเป็นเขา และตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับเขาท่านอาจจะตัดสินใจทำเช่นเดียวกับเขาก็ได้
11. การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยมือผู้อื่น

12.
ผู้ปกครองระดับธรรมดา ใช้ความสารมารถของตนอย่างเต็มที่

13.
ผู้ปกครองระดับกลาง ใช้กำลังของคนอื่นอย่างเต็มที่

14.
ผู้ปกครองระดับสูง ใช้ปัญญาของคนอื่นอย่างเต็มที่

15.
อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น
16. เมื่อนักการฑูตพูดว่า "ใช่ หรือ อาจจะ" เขามีความหมายว่า "อาจจะ"

17.
เมื่อนักการฑูตพูดว่า "อาจจะ" เขามีความหมายว่า "ไม่"

18.
เมื่อนักการฑูตพูดว่า "ไม่" เขาไม่ใช่นักการฑูตเพราะนักการฑูตที่ดีจะไม่ปฏิเสธใคร

19.
เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า "ไม่" หล่อนมีความหมายว่า "อาจจะ"

20.
เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า "อาจจะ" หล่อนมีความหมายว่า "ใช่ หรือ ได้"

21.
เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า "ใช่ หรือ ได้" หล่อนไม่ใช่สุภาพสตรี.

22.
สุภาพสตรีจะไม่ตอบรับใครง่าย ๆ

23.
คิดทำการใหญ่ อย่าสนใจเรื่องเล็กน้อย

24.
ตาสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลได้ แต่ไม่สามารถ มองเห็นคิ้วของตน

25.
คนส่วนใหญ่ใส่ใจกับผลได้ระยะสั้นเท่านั้น แต่คนฉลาดอย่างแท้จริงจะมองไปยังอนาคต
Source: forum.sarut-homesite.net

Tuesday, May 29, 2012

Curse of knowledge โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ

เมื่อไม่นานมานี้ มีคนมาสัมภาษณ์ผมเพื่อลงนิตยสารเล่มหนึ่ง พอเขารู้ว่าผมทำงานการเงินมาเกือบสิบปีก่อนมาทำงานด้านการตลาด  เขาก็ถามถึงความแตกต่างของ การทำงานทั้งสองด้าน  ในระหว่างที่ตอบคำถาม ผมก็คิดย้อนไปถึงประสบการณ์ที่ทำงานด้านการเงิน โดยมองจากตัวผมเองในปัจจุบัน...
งานด้านการเงินเป็นศาสตร์เฉพาะทางอยู่พอสมควร  ศัพท์แสงต่างๆ ที่ใช้อยู่ในวงการการเงินก็เป็นอะไรที่คนนอกเข้าใจได้ยาก คำต่างๆ เช่น หุ้นกู้  ตลาดทุน  derivatives, futures บีอี ฯลฯ เป็นคำที่คนในวงการคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนภายนอกแล้วเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่จะทำความเข้าใจ
ไม่ต้องอื่นไกลเอาแค่ เรื่องการซื้อกองทุน RMF หรือ LTF เพื่อประหยัดภาษีประจำปี พวกน้องๆ ผมที่ไม่ได้อยู่ในวงการการเงิน พอถึงเวลาต้องซื้อก็จะตกใจ เรียกผิดเรียกถูกเป็น RTF บ้าง LMF บ้าง ไม่รู้ว่ามันต่างกันยังไง ไม่ว่าคนวงการการเงินเขาจะให้ข้อมูลเท่าไหร่ พวกน้องๆ ผมก็จะตกใจเป็นประจำทุกปีและไม่พยายามทำความเข้าใจ ในที่สุดก็จะรอวันสุดท้าย แล้วก็ฝากๆ กันเอาโดยไปธนาคารที่คุ้นเคย ซื้อไปแล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองซื้ออะไรไปเลยด้วยซ้ำ
เพื่อนๆ ผมในวงการการเงินก็มักจะบ่นๆว่า ทำไมเรื่องง่ายๆแค่นี้ คนทั่วไปถึงไม่พยายามเข้าใจเอาซะเลย มีครั้งหนึ่ง ผมถูกเพื่อนผมเชิญไปช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการสื่อสารการตลาด
พอนั่งยังไม่ทันก้นหายร้อน เพื่อนผมก็ใส่ด้วยข้อมูลแบบไม่หายใจหายคอ จับใจความได้ว่า อเบอร์ดีน เนี่ยจริงๆ แล้ว Yield ไม่ได้สูงกว่ากองทุนเขานะ แต่เป็นเพราะช่วงนั้นมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้การเปรียบเทียบมันเบี่ยงเบนไป แล้วเขาก็ใส่อเบอร์ดีนเป็นชุดๆ ผมต้องรอเขาหยุดพูด แล้วค่อยๆ ถามอย่างช้าๆ ว่า อเบอร์ดีน มันคืออะไรเหรอเพราะผมไม่ได้อยู่วงการการเงินนาน ไม่รู้ว่ามีกองทุนชื่ออเบอร์ดีนด้วย ไม่ได้สนใจด้วยว่าอเบอร์ดีนเก่งยังไง ไม่เคยรู้จัก รู้แค่ว่าอเบอร์ดีนเป็นชื่อ ทีมฟุตบอลในสกอตแลนด์เท่านั้น กว่าจะรู้เรื่องกันได้ ก็ต้องอธิบายกันซักพักใหญ่
ความรู้เฉพาะที่วงการการเงินรู้และแลกเปลี่ยนกันภายในวงการ และทำให้คนนอก เอ๋อๆ เวลาฟังพวกการเงินคุยกัน และพวกการเงินก็มักจะบ่นๆ ว่าทำยังไงก็สื่อสารให้คนนอกวงการฟังไม่ได้ซะที
ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านจากหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง เป็นการทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเรียกการทดลองนี้ว่า Curse of knowledge ในการทดลองนี้เขาแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่าผู้เคาะ (Tapper) อีกกลุ่มเรียกว่า ผู้ฟัง (Listener) ผู้เคาะจะได้รายชื่อเพลงง่ายๆ 25 เพลง เช่นพวกเพลง happy birthday หรือ jingle bell เขาให้ผู้เคาะเลือกเพลงในหัวหนึ่งเพลง แล้วเคาะโต๊ะตามจังหวะเพลงนั้น แล้วให้ผู้ฟังทายว่าเป็นเพลงอะไร
ผู้ทดลองให้ทดลอง 120 ครั้ง ปรากฏว่า มีแค่ 3 ครั้งที่ผู้ฟังตอบถูก หรือแค่ 2.5% แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากผู้เคาะเคาะเสร็จ ก่อนที่ผู้ฟังจะทาย ผู้ทดลองให้ผู้เคาะทายว่าผู้ฟังจะทายถูกหรือไม่ ปรากฏว่าผู้เคาะคิดว่าผู้ฟังจะทายถูกถึง 50% ผู้เคาะคิดว่าโอกาสจะทายถูก 50% แต่ผลจริงๆ แล้วผู้ฟังทายถูกแค่ 2.5% ทำไมถึงห่างขนาดนั้น ??
เป็นเพราะว่าตอนที่ผู้เคาะ เคาะโต๊ะ ในหัวของคนเคาะมีเสียงเพลงที่เขาเลือกก้องอยู่  แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ฟังได้ยินแต่เสียงเคาะโต๊ะ ก๊อกแก๊กๆ ไม่ได้มีแนวทางอะไรเป็นเรื่องเป็นราว  (ลองเล่นดูได้นะครับ)
ระหว่างการทดลอง สีหน้าผู้เคาะก็ออกจะรำคาญนิดๆ ว่าเพลงง่ายขนาดนี้ ทำไมผู้ฟังถึงเดาไม่ออก เคาะไปก็โมโหไป ปัญหาก็คือ ผู้เคาะได้รับชุดข้อมูลชื่อเพลงไป พอมีข้อมูลบางอย่างแล้ว  เป็นการยากมากๆ ที่จะเข้าใจคนที่ไม่มีข้อมูลว่าเขารู้สึกยังไง การที่มีข้อมูล ความรู้  ทำให้การสื่อสาร หาคนที่ไม่รู้เป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้นมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า “Curse of knowledge”
ไม่เฉพาะวงการการเงินที่เจอเรื่อง curse of knowledge นะครับ ลองคิดถึงอาจารย์ กับ ลูกศิษย์   คิดถึงหัวหน้างานที่มีประสบการณ์ยาวนาน กับ ลูกน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หรือฝ่าย IT ที่พยายามจะสื่อสาร IT  policy ในองค์กรดูสิครับ
องค์ความรู้เฉพาะที่สะสมมา หรือ ประสบการณ์ที่มีมากๆ ในหลายๆครั้ง ก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารกับคนหมู่มาก หรือคนที่เราอยากจะสื่อสารได้ วิธีที่ผมใช้บ่อยๆในการลดช่องว่างเรื่องตรงนี้ก็คือการพาน้องๆ ในสายวิชาชีพของเขาแล้วมีปัญหาในการสื่อสารให้ลูกค้าหรือคนหมู่มากเข้าใจออกไปเดิน เดินไปฟังชาวบ้านร้านตลาด แทนที่จะเถียงกันที่ออฟฟิศ ไปเดินเจอลูกค้าตัวเป็นๆ ไปลองอธิบายให้เขาเข้าใจให้ได้ อดทน ใจเย็น และพยายาม การเดินออกไปเจอลูกค้า แล้วไป ฟังนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหา curse of knowledge ที่ดีที่สุด เพราะทำให้เกิดการยอมรับถึงความรู้ มากไปจนสื่อสารไม่ได้
เมื่อต้องเจอกับลูกค้าตัวเป็นๆ และ การที่ต้องออกไปนอกสถานที่ ที่ตัวเองคุ้นเคย ไปอยู่ในวงที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ก็ทำให้ความมั่นใจจนเป็นอีโก้กลายๆ ลดลง และเปิดใจกับคนที่อยู่นอกวงมากขึ้น รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรบ้าง ไม่รู้ว่าจะสื่อสารยังไง ไม่รู้ว่าคนที่ไม่รู้คิดยังไง อาจจะเป็นความรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่รู้มากๆ ก็ได้นะครับ.
Source: ธนา เธียรอัจฉริยะ thairath.co.th.content/life/264051

Wednesday, May 23, 2012

"จงรับฟัง" คาถาที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ "ซัมซุง"

เห็นข่าวยอดขายสมาร์ทโฟนของ "ซัมซุง" ชนะ "ไอโฟน" ของ "แอปเปิล" แล้ว คนรุ่นใหม่อาจไม่แปลกใจในปรากฏการณ์นี้มากนัก แต่คนอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ยังจำภาพ "ซัมซุง" ในอดีตได้คงแปลกใจ เพราะในอดีตภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ซัมซุง คือ สินค้าราคาถูก เกรดต่ำกว่าสินค้าจากญี่ปุ่น แต่เพียงชั่วเวลาไม่นาน "ซัมซุง" กลับกลายเป็นสินค้าเกรดเอ

โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนของ "ซัมซุง" โชว์นวัตกรรม "จอสี" และเสียงโทร.เข้าที่ไพเราะกว่าเสียงโมโนโทน เหนือกว่า "โนเกีย" ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในยุคนั้น

คุยกับผู้บริหาร "เอไอเอส" ในยุคนั้น เขายังบ่นเลยว่า "ซัมซุง" กล้าหาญมากที่ตั้งราคาสูงกว่ามือถือทั่วไป ทั้งที่ใช้แบรนด์ "ซัมซุง" แต่สุดท้าย "ซัมซุง" รุ่นนั้นก็ประสบความสำเร็จ จากวันนั้นเป็นต้นมา "ซัมซุง" ก็ไม่ใช่ "ซัมซุง" ที่เราคุ้นเคย เขาเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ไม่ผลิตสินค้าเกรดต่ำ ราคาถูกอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ตู้เย็น หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ สินค้า "ซัมซุง" กลายเป็นสินค้าคุณภาพ ที่โชว์เหนือเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจาก "ลี กอน ฮี" ที่รับสืบทอดกิจการมาจากรุ่นพ่อ "ลี เบียง ชอล"
เป็นคาถา "ซัมซุง ที่ "พ่อ" มอบให้กับ "ลูก"

วันที่ "ลี เบียง ชอล" ประกาศว่าผู้สืบทอดกิจการ "ซัมซุง" คือ "ลี กอน ฮี" บุตรชายคนที่ 3 เขาเรียกลูกชายมาที่ห้องทำงาน แล้วหยิบพู่กันจุ่มหมึกเขียนข้อความสั้นๆ

"จงรับฟัง"
นี่คือ คาถาข้อแรกของการเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กรใหญ่ที่ "พ่อ" มอบให้กับ "ลูก"

"ลี เบียง ชอล" รู้ซึ้งถึงสัจธรรมของ "อำนาจ" ว่ายิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งรับฟังน้อยลง และเมื่อ "พูด" มากกว่า "ฟัง" "ความรู้ใหม่" ก็ไม่เกิด

"ลาร์ลี่ คิง" นักพูดชื่อดัง เคยบอกว่า "เราไม่เคยฉลาดขึ้นจากการพูด" มีแต่การฟังเท่านั้นที่จะได้ "ความรู้" จากผู้อื่น

เขาจึงเตือน "ลี กอน ฮี" ตั้งแต่เริ่มต้นการเรียนรู้งานในตำแหน่ง "ประธาน"

ในวันที่ "ลี กวน ฮี" มีอำนาจเต็มใน "ซัมซุง" เขาจึงเป็นคนที่ได้รับคำชมอย่างมากว่าเป็น "ผู้ฟัง" ที่ดี ทั้งที่ "ลี กวน ฮี" เป็นคนพูดเก่ง เขาสามารถบรรยายติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมงได้อย่างสบาย แต่ "จุดเด่น" ของเขากลับอยู่ที่การรับฟัง ฟังเพื่อนนักธุรกิจ ฟังนักวิชาการ ฟังผู้บริหาร ฟังพนักงาน ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มตั้งคำถาม

"ทำไม-ทำไม-ทำไม ฯลฯ"

ว่ากันทุกปัญหา "ลี กวน ฮี" จะตั้งคำถามว่า "ทำไม" อย่างน้อย 6 คำถาม

คาถาเรื่อง "จงรับฟัง" นั้น ผมจำได้ว่า "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ "เอสซีจี" หรือ "ปูนซิเมนต์ไทย" เคยบอกว่าตอนที่จะเปลี่ยนองค์กร "เอสซีจี" สู่นวัตกรรม เขาต้องเข้าอบรมหลักสูตรหนึ่ง

ชื่อว่า "การฟัง"

สอนให้รู้จักอดทนรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง เพราะถ้าไม่มีท่าทีรับฟังก็จะไม่มีลูกน้องคนใดกล้าเสนอความเห็นที่นอกกรอบ และองค์กรนั้นก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

คาถาบทที่สองที่ "ลี เบียง ชอล" มอบให้กับลูกชายผู้สืบทอดกิจการ ก็คือ "ไก่ไม้"

"ไก่ไม้" คือ ไม้ที่แกะสลักเป็นตัวไก่ ในห้องนอนของเขาจะมี "ไก่ไม้" แขวนอยู่ "ไก่ไม้" นั้นมาจากนิทานเรื่องหนึ่งในหนังสือคำสอนของ "จวงจื่อ" ปราชญ์คนหนึ่งของจีน
คนเลี้ยงไก่ชนชื่อดังคนหนึ่ง ชื่อ "จี้ เซิง จื่อ" เป็นคนเลี้ยงไก่ชนให้กับ "โจว ซวน อ๋อง" วันหนึ่ง "โจว ซวน อ๋อง" นำไก่ชนตัวหนึ่งมาให้เลี้ยง
ผ่านไป 10 วัน "โจว ซวน อ๋อง" ก็ถามเขาว่า "ไก่ชนใช้ได้หรือยัง" "ยังไม่ได้ เพราะมันยังเดินกร่างอยู่ ทะนงตน ท้าทายไปทั่ว" จี้ เซิง จื่อ ตอบ

ผ่านไปอีก 10 วัน "โจว ซวน อ๋อง" ก็ถามด้วยคำถามเดิม "ไก่ชนใช้ได้แล้วหรือยัง" คำตอบของ "จี้ เซิง จื่อ" เหมือนเดิม คือ "ยัง" แต่เหตุผลเปลี่ยนไป "ยังไม่ได้ ตอนนี้ไม่ท้าทายไก่ตัวอื่นแล้ว แต่มักจะโดดตีถ้าไก่ตัวอื่นเข้าใกล้"

อีก 10 วัน "โจว ซวน อ๋อง" ถามอีก "ไก่ชนใช้ได้หรือยัง" "ยังไม่ได้ ตอนนี้ไม่โดดตีแล้ว และลดความทระนงตนลงแต่สายตายังดุร้าย เหมือนพร้อมจะตีกับไก่ตัวอื่น"

อีก 10 วัน "โจว ซวน อ๋อง" ถามด้วยคำถามเดิม ครั้งนี้คำตอบมีพัฒนาการ "จี เซิง จื่อ" ตอบว่าพอใช้ได้แล้ว เพราะเมื่อไก่ตัวอื่นขัน ก็ไม่แสดงอาการตอบ เป็นราวกับ "ไก่ไม้"

"เห็นไก่ตัวอื่นก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไก่ตัวอื่นเห็นก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เดินหนีไปหมด"

ครับ "ไก่ชน" ที่ดีนั้นไม่ใช่ "ไก่" ที่ตีเก่ง ฮึกเหิมห้าวหาญท้าทีท้าต่อยไปทั่ว แต่ "ไก่ชน" ที่ดีต้อง "นิ่ง" เป็น สงบสยบเคลื่อนไหว รู้จักเก็บความรู้สึกของตนเอง แต่สามารถเปล่งประกายจนไก่ชนตัวอื่นย้ำเกรง ชนะโดยไม่ต้องชน

ผู้บริหารที่ดีในความหมายของ "ลี เบียง ชอล" คือ ต้องใจเย็น สงบนิ่งในสถานการณ์ที่กดดันให้ได้ "นิ่ง" เหมือน "ไก่ไม้"

เขามอบ "ไก่ไม้" ให้ลูกชาย เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้รู้จัก "นิ่ง"

"จงรับฟัง" และ "ไก่ไม้" อาจไม่ใช่คาถาที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ "ซัมซุง"

แต่เป็นคาถาที่ "ลี กวน ฮี" ใช้ในการบริหารงานมาโดยตลอด และนำพา "ซัมซุง" ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
Source: มติชนสุดสัปดาห์, Stock2morrow

Friday, May 4, 2012

“ไม่มีสูตร”แต่สำเร็จ ของผู้ประกอบการ “นอกคอก”

เกือบจะเป็นเรื่องบังเอิญที่พิธีกรทั้ง 4 ต่างเป็นอดีต เด็กไม่เอาถ่าน เรื่องเรียน ทั้งสิ้น นี่อาจแทนบทพิสูจน์ว่า ความสำเร็จทางธุรกิจ อาจไม่ต้องเริ่มที่ชัยชนะในการศึกษาเท่านั้น หากสิ่งสำคัญไปกว่านั้นก็คือ ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ
ไม่ต้องเรียนเก่งไม่ต้องมีชีวิตที่ เพอร์เฟค ก็ประสบความสำเร็จในเวทีธุรกิจได้ขอแค่เชื่อมั่น มีจุดหมาย รักในสิ่งที่ทำ ปะทุพลังสร้างสรรค์ให้เกิด

“เรามาถึงจุดนี้เพราะไม่ได้ยึดติดรูปแบบ หรือทฤษฎีจนเกินไป เป็นการใช้ศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ มาผสมผสาน สัญชาติญาณ ปรุงแต่งจนเป็นความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้”

นี่คือหนึ่งในสูตรสำเร็จ ของ “ฟาร์ม โชคชัย” ที่ “โชค บูลกุล” หัวหอกกลุ่มบริษัท ฟาร์มโชคชัย จำกัด พกพามาแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเวทีเสวนา “คิดต่าง ทำต่าง อย่างมืออาชีพ” งานThailand SME EXPO 2011 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว ร่วมกับวิทยากรระดับกูรูอีก 3 ท่านคือ “ภาณุ อิงคะวัต” ธุรกิจเสื้อผ้าและร้านอาหารเกรย์ฮาวด์ (Greyhound) “ภัทรา สหวัฒน์” เจ้าของ “เพลินวาน” แห่งเมืองหัวหิน และร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรี เทศบาลอัมพวา ผู้ปลุกปั้นตลาดน้ำอัมพวาให้ฮอตติดลมบนอย่างวันนี้


เช่นเดียวกับ ภาณุ อิงคะวัต ผู้บริหาร บริษัท เกรย์ฮาวด์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ เกรย์ฮาวด์ ที่ไม่ได้ จบแฟชั่นดีไซน์ ทำอาหารก็ไม่เก่ง แต่อาศัยเก็บประสบการณ์ในบริษัทโฆษณาระดับอินเตอร์ ถูกสอนให้คิด สอนให้ใช้พลังสร้างสรรค์ ผ่านวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า “Ideas Culture” หลอมรวมจนเกิดกลายเป็นธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ เกรย์ฮาวด์ เมื่อ 31 ปีก่อน ในยุคที่แบรนด์เสื้อผ้ายังไม่มีอะไรใหม่ ยังมีความต้องการรออยู่แต่ไม่มีใครคิด และเมื่อสิ่งที่พวกเขาคิดคือสิ่งที่คนอยากได้ ธุรกิจจึงเติบโตมาเรื่อยๆ

จากเสื้อผ้าก็แตกไลน์มาทำร้านอาหาร ตอบรับไลฟ์สไตล์ของคนยุค กิน ดื่ม เที่ยว ดูหนัง และฟังเพลง แต่ไม่ใช่ระดับ เกรย์ฮาวด์จะไม่มีอะไรพลาด ภาณุ บอกว่า เปิดร้านได้อาทิตย์เดียวก็ต้องปิด เพราะ ยังทำไม่เป็นยังมีอะไรหลายอย่างในธุรกิจร้านอาหารที่พวกเขาไม่เข้าใจ จึงเริ่มหาคำตอบ และหาทางแก้ปัญหา ค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้นมา เริ่มทำทุกอย่างให้เป็นระบบและชัดเจนขึ้น จนธุรกิจไปของมันได้
สำหรับเกรย์ฮาวด์ พวกเขาไม่ใช่เสื้อผ้า ไม่ใช่อาหาร แต่เรียกตัวเองว่า “Style presenter” ที่สามารถหยิบสไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ มานำเสนอในรูปของ เกรย์ฮาวด์ และนั่นหมายความว่า นับจากนี้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องปิดกั้นตัวเองแค่เสื้อผ้าหรือร้านอาหารเท่านั้น แต่อนาคตอาจมีโรงแรมสไตล์เกรย์ฮาวด์ ของแต่งบ้านสไตล์เกรย์ฮาวด์ เพิ่มขึ้นมาอีกก็เป็นได้

ความสำเร็จของเรามันมาจาก Timing ที่ถูกต้อง และเราสามารถเก็บเอาสิ่งที่ถูกต้องนั้น ไปทำให้มันเติบโตได้”  สิ่งที่ก่อเกิดเป็น เกรย์ฮาวด์ คือความคิดสร้างสรรค์ สำหรับ ภาณุ “Creative” มันสามารถเกิดขึ้นได้จากความ ลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ ทำด้วยความรู้สึกรักและสนุก พอ ตกหลุมรักในสิ่งนั้น ก็จะเป็นแรงผลักให้เราสามารถเข้าไปสู่ส่วนลึกของมัน จนกระตุ้นให้พยายามทำมันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ


ความ ลุ่มหลงของภาณุ อาจใกล้เคียงกับ ความอยาก ความรัก และความฝัน ของ ภัทรา สหวัฒน์ ทายาท บริษัท วนชัย กรุ๊ป ที่เก็บความเจ็บปวดจากการถูกไล่ออกตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น มาเป็นแรงผลักดันให้นำพาตัวเองไปสู่วิถีแห่งความสำเร็จอย่างวันนี้ได้ ความสำเร็จที่เธอบอกว่า ไม่ใช่การได้รับใบปริญญา แต่คือ การค้นพบ ความสุข ที่แท้จริงของชีวิต นั่นคือการได้ทำงานบนพื้นฐานของความสุขและสนุก จากการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ชื่อ เพลินวาน ให้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในบรรยากาศเก่าๆ ที่แสนโหยหาได้ ไอเดียจากพิพิธภัณฑ์ราเม็งที่ญี่ปุ่น

ความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้สามารถเนรมิตโลเคชั่นมุมอับของหัวหิน ไม่ติดทะเล ไม่มีใครมองเห็น มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างในวันนี้ได้ มีคนเข้าชมวันธรรมดามากถึง 1-2 พันคน ช่วงปิดเทอมเพิ่มเป็น 3 พันคน ขณะที่เสาร์-อาทิตย์ มีมากถึง 8 พัน- กว่าหมื่นคน

เพลินวานไม่ใช่ Product แต่มันเป็นความเชื่อของเรา เชื่อในสถาปัตยกรรมแบบนี้ อารมณ์แบบนี้ รากเหง้าของความเป็นไทย และความเชื่อเรื่องการทำธุรกิจบนพื้นฐานของการคิดดีทำดี

เพลินวานเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์ แต่ตลาดน้ำอัมพวา พวกเขาสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ภายใต้การนำของพ่อเมืองคนเก่ง ร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรี เทศบาลอัมพวา 2 ปีซ้อน ภายใต้บทบาทหน้าที่ พัชโรดม ต้องเข้ามาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อโจทย์คือ การแก้ปัญหา เศรษฐกิจ ให้ชาวอัมพวา เขาจึงเริ่มจากหาเครื่องมือมาจัดการแก้ไข เมื่อเริ่มค้น ต้นทุน ที่อัมพวามีอยู่ พบว่า คือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนไทยภาคกลาง และความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนที่นำมาสู่ความคิดทำ ตลาดน้ำ ยามเย็น เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนของตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เปิดเพียงช่วงเช้า



เราทำตลาดน้ำ คนอัมพวาเข้าใจ มองเห็นภาพ ไม่ต้องขุดคลอง ไม่ต้องซื้อเรือให้เขา เพราะนั่นคือทุนที่มีอยู่แล้ว เราทำตลาดน้ำยามเย็น ไม่ได้เพื่อต่างชาติ แต่เป้าหมายคือคนกรุงเทพที่มีเวลา วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดาคนอัมพวาใช้ชีวิตปกติเราไม่ได้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา คนเที่ยวอัมพวาปีละ 1.5 ล้านคน ถ้าเขาทำของขายหน้าบ้านชิ้นละ 10 บาทให้กับคนกลุ่มนี้ เขาก็สบายแล้ว

แต่การปลุกปั้นอัมพวาให้เกิดไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกว่าต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับชุมชน ปรึกษา หารือ ชี้แนะ และสนับสนุนในสิ่งที่ควรสนับสนุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการพัฒนา “Content” ให้กับอัมพวา สร้างคุณค่าให้เกิด จนอัมพวาเต็มไปด้วยมนต์สเน่ห์และไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาดน้ำยามเย็นอีกต่อไป



ความคิดนี้สอดรับเต็มๆ กับความเชื่อของ โชค บุลกุลเขาบอกว่า การทำอะไรก็ตามต้องทำจาก “Content” คือ สาระและ “Creative” ก็อยู่ที่ สาระไม่ใช่แพคเก็จจิ้งเหมือนที่คนไทยเข้าใจกัน และ “Content” ที่ดี ต้องเกิดจากการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเท่านั้น

ต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็น“Content” เราไม่กลับไปทำอุตสาหกรรมเดิมอย่างธุรกิจนมพร้อมดื่ม เพราะรู้ว่าแข่งขันไม่ได้ แต่ธุรกิจเราวันนี้เป็น Niche เราทำของดีที่มีจำนวนจำกัด คนที่ได้ครอบครองแล้วต้องรู้สึกว่า เท่ห์

ภายใต้แรงกดดันที่ธุรกิจของครอบครัวจวนตัวว่าจะ เจ๊งโชค เลือกเข้ามาพลิกฟื้น ด้วยการแยกธุรกิจบางส่วนออกมาทำเอง โดยการปะติดปะต่อ How too + Know how และ Content ทำงานบนสโลแกน คิดแบบเด็ก แต่ทำแบบผู้ใหญ่ กล้าคิดนอกกรอบ แต่ลงมือทำอย่างมืออาชีพ บนความรับผิดชอบสูงสุด ไม่สนเงินก้อนใหม่

แต่เอาสิ่งที่มีอยู่ บวกแรงกดดันทั้งหมด มาสู่ ความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถสร้างมูลค่าใหม่ให้เกิดกับฟาร์มโชคชัยอย่างวันนี้ได้ มีมูลค่าทรัพย์สิน เฉพาะที่ดิน นับ 2 หมื่นไร่ มีวัวพันธุ์ดีได้รับมาตรฐานสากลส่งออกไปทั่วโลก มีบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องการตลาดและธุรกิจการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว ที่พักร้านอาหาร นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนนับล้านคนต่อปี สิ่งที่โชคสรุปไว้ตอนท้าย ก็คือ  หมั่นสังเกต และมีเวลากับตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ ก็จะเกิด ประสบการณ์มีค่า เพียงแต่เราจะมองข้ามมันหรือไม่ คนมักคิดว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากการเรียน แต่จริงๆ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การเรียนทำให้คนทำเป็น แต่แรงบันดาลใจทำให้คนเก่ง

และนี่คือสูตรสำเร็จนอกหลักสูตร ของพวกเขา

Source: BizWeek