เกือบจะเป็นเรื่องบังเอิญที่พิธีกรทั้ง 4 ต่างเป็นอดีต “เด็กไม่เอาถ่าน” เรื่องเรียน ทั้งสิ้น นี่อาจแทนบทพิสูจน์ว่า ความสำเร็จทางธุรกิจ อาจไม่ต้องเริ่มที่ชัยชนะในการศึกษาเท่านั้น หากสิ่งสำคัญไปกว่านั้นก็คือ “ประสบการณ์” และการเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ
ไม่ต้องเรียนเก่งไม่ต้องมีชีวิตที่ เพอร์เฟค ก็ประสบความสำเร็จในเวทีธุรกิจได้ขอแค่เชื่อมั่น มีจุดหมาย รักในสิ่งที่ทำ ปะทุพลังสร้างสรรค์ให้เกิด
“เรามาถึงจุดนี้เพราะไม่ได้ยึดติดรูปแบบ หรือทฤษฎีจนเกินไป เป็นการใช้ศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ มาผสมผสาน สัญชาติญาณ ปรุงแต่งจนเป็นความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้”
นี่คือหนึ่งในสูตรสำเร็จ ของ “ฟาร์ม โชคชัย” ที่ “โชค บูลกุล” หัวหอกกลุ่มบริษัท ฟาร์มโชคชัย จำกัด พกพามาแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเวทีเสวนา “คิดต่าง ทำต่าง อย่างมืออาชีพ” งานThailand SME EXPO 2011 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว ร่วมกับวิทยากรระดับกูรูอีก 3 ท่านคือ “ภาณุ อิงคะวัต” ธุรกิจเสื้อผ้าและร้านอาหารเกรย์ฮาวด์ (Greyhound) “ภัทรา สหวัฒน์” เจ้าของ “เพลินวาน” แห่งเมืองหัวหิน และร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรี เทศบาลอัมพวา ผู้ปลุกปั้นตลาดน้ำอัมพวาให้ฮอตติดลมบนอย่างวันนี้
เช่นเดียวกับ “ภาณุ อิงคะวัต” ผู้บริหาร บริษัท เกรย์ฮาวด์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “เกรย์ฮาวด์” ที่ไม่ได้ จบแฟชั่นดีไซน์ ทำอาหารก็ไม่เก่ง แต่อาศัยเก็บประสบการณ์ในบริษัทโฆษณาระดับอินเตอร์ ถูกสอนให้คิด สอนให้ใช้พลังสร้างสรรค์ ผ่านวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า “Ideas Culture” หลอมรวมจนเกิดกลายเป็นธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ “เกรย์ฮาวด์” เมื่อ 31 ปีก่อน ในยุคที่แบรนด์เสื้อผ้ายังไม่มีอะไรใหม่ ยังมีความต้องการรออยู่แต่ไม่มีใครคิด และเมื่อสิ่งที่พวกเขาคิดคือสิ่งที่คนอยากได้ ธุรกิจจึงเติบโตมาเรื่อยๆ
จากเสื้อผ้าก็แตกไลน์มาทำร้านอาหาร ตอบรับไลฟ์สไตล์ของคนยุค กิน ดื่ม เที่ยว ดูหนัง และฟังเพลง แต่ไม่ใช่ระดับ “เกรย์ฮาวด์” จะไม่มีอะไรพลาด ภาณุ บอกว่า เปิดร้านได้อาทิตย์เดียวก็ต้องปิด เพราะ “ยังทำไม่เป็น” ยังมีอะไรหลายอย่างในธุรกิจร้านอาหารที่พวกเขาไม่เข้าใจ จึงเริ่มหาคำตอบ และหาทางแก้ปัญหา ค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้นมา เริ่มทำทุกอย่างให้เป็นระบบและชัดเจนขึ้น จนธุรกิจไปของมันได้
สำหรับเกรย์ฮาวด์ พวกเขาไม่ใช่เสื้อผ้า ไม่ใช่อาหาร แต่เรียกตัวเองว่า “Style presenter” ที่สามารถหยิบสไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ มานำเสนอในรูปของ “เกรย์ฮาวด์” และนั่นหมายความว่า นับจากนี้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องปิดกั้นตัวเองแค่เสื้อผ้าหรือร้านอาหารเท่านั้น แต่อนาคตอาจมีโรงแรมสไตล์เกรย์ฮาวด์ ของแต่งบ้านสไตล์เกรย์ฮาวด์ เพิ่มขึ้นมาอีกก็เป็นได้
“ความสำเร็จของเรามันมาจาก Timing ที่ถูกต้อง และเราสามารถเก็บเอาสิ่งที่ถูกต้องนั้น ไปทำให้มันเติบโตได้” สิ่งที่ก่อเกิดเป็น “เกรย์ฮาวด์” คือความคิดสร้างสรรค์ สำหรับ ภาณุ “Creative” มันสามารถเกิดขึ้นได้จากความ “ลุ่มหลง” ในสิ่งที่ทำ ทำด้วยความรู้สึกรักและสนุก พอ “ตกหลุมรัก” ในสิ่งนั้น ก็จะเป็นแรงผลักให้เราสามารถเข้าไปสู่ส่วนลึกของมัน จนกระตุ้นให้พยายามทำมันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
ความ “ลุ่มหลง” ของภาณุ อาจใกล้เคียงกับ ความอยาก ความรัก และความฝัน ของ “ภัทรา สหวัฒน์” ทายาท บริษัท วนชัย กรุ๊ป ที่เก็บความเจ็บปวดจากการถูกไล่ออกตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น มาเป็นแรงผลักดันให้นำพาตัวเองไปสู่วิถีแห่งความสำเร็จอย่างวันนี้ได้ ความสำเร็จที่เธอบอกว่า ไม่ใช่การได้รับใบปริญญา แต่คือ การค้นพบ “ความสุข” ที่แท้จริงของชีวิต นั่นคือการได้ทำงานบนพื้นฐานของความสุขและสนุก จากการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ชื่อ “เพลินวาน” ให้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในบรรยากาศเก่าๆ ที่แสนโหยหาได้ ไอเดียจากพิพิธภัณฑ์ราเม็งที่ญี่ปุ่น
ความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้สามารถเนรมิตโลเคชั่นมุมอับของหัวหิน ไม่ติดทะเล ไม่มีใครมองเห็น มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างในวันนี้ได้ มีคนเข้าชมวันธรรมดามากถึง 1-2 พันคน ช่วงปิดเทอมเพิ่มเป็น 3 พันคน ขณะที่เสาร์-อาทิตย์ มีมากถึง 8 พัน- กว่าหมื่นคน
“เพลินวานไม่ใช่ Product แต่มันเป็นความเชื่อของเรา เชื่อในสถาปัตยกรรมแบบนี้ อารมณ์แบบนี้ รากเหง้าของความเป็นไทย และความเชื่อเรื่องการทำธุรกิจบนพื้นฐานของการคิดดีทำดี”
เพลินวานเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์ แต่ตลาดน้ำอัมพวา พวกเขาสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ภายใต้การนำของพ่อเมืองคนเก่ง “ร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ” นายกเทศมนตรี เทศบาลอัมพวา 2 ปีซ้อน ภายใต้บทบาทหน้าที่ “พัชโรดม” ต้องเข้ามาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อโจทย์คือ การแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” ให้ชาวอัมพวา เขาจึงเริ่มจากหาเครื่องมือมาจัดการแก้ไข เมื่อเริ่มค้น “ต้นทุน” ที่อัมพวามีอยู่ พบว่า คือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนไทยภาคกลาง และความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนที่นำมาสู่ความคิดทำ “ตลาดน้ำ” ยามเย็น” เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนของตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เปิดเพียงช่วงเช้า
“เราทำตลาดน้ำ คนอัมพวาเข้าใจ มองเห็นภาพ ไม่ต้องขุดคลอง ไม่ต้องซื้อเรือให้เขา เพราะนั่นคือทุนที่มีอยู่แล้ว เราทำตลาดน้ำยามเย็น ไม่ได้เพื่อต่างชาติ แต่เป้าหมายคือคนกรุงเทพที่มีเวลา วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดาคนอัมพวาใช้ชีวิตปกติเราไม่ได้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา คนเที่ยวอัมพวาปีละ 1.5 ล้านคน ถ้าเขาทำของขายหน้าบ้านชิ้นละ 10 บาทให้กับคนกลุ่มนี้ เขาก็สบายแล้ว”
แต่การปลุกปั้นอัมพวาให้เกิดไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกว่าต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับชุมชน ปรึกษา หารือ ชี้แนะ และสนับสนุนในสิ่งที่ควรสนับสนุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการพัฒนา “Content” ให้กับอัมพวา สร้างคุณค่าให้เกิด จนอัมพวาเต็มไปด้วยมนต์สเน่ห์และไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาดน้ำยามเย็นอีกต่อไป
ความคิดนี้สอดรับเต็มๆ กับความเชื่อของ “โชค บุลกุล” เขาบอกว่า การทำอะไรก็ตามต้องทำจาก “Content” คือ “สาระ” และ “Creative” ก็อยู่ที่ “สาระ” ไม่ใช่แพคเก็จจิ้งเหมือนที่คนไทยเข้าใจกัน และ “Content” ที่ดี ต้องเกิดจากการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเท่านั้น
“ต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็น“Content” เราไม่กลับไปทำอุตสาหกรรมเดิมอย่างธุรกิจนมพร้อมดื่ม เพราะรู้ว่าแข่งขันไม่ได้ แต่ธุรกิจเราวันนี้เป็น Niche เราทำของดีที่มีจำนวนจำกัด คนที่ได้ครอบครองแล้วต้องรู้สึกว่า เท่ห์”
ภายใต้แรงกดดันที่ธุรกิจของครอบครัวจวนตัวว่าจะ “เจ๊ง” โชค เลือกเข้ามาพลิกฟื้น ด้วยการแยกธุรกิจบางส่วนออกมาทำเอง โดยการปะติดปะต่อ How too + Know how และ Content ทำงานบนสโลแกน “คิดแบบเด็ก แต่ทำแบบผู้ใหญ่” กล้าคิดนอกกรอบ แต่ลงมือทำอย่างมืออาชีพ บนความรับผิดชอบสูงสุด ไม่สนเงินก้อนใหม่
แต่เอาสิ่งที่มีอยู่ บวกแรงกดดันทั้งหมด มาสู่ “ความคิดสร้างสรรค์” จนสามารถสร้างมูลค่าใหม่ให้เกิดกับฟาร์มโชคชัยอย่างวันนี้ได้ มีมูลค่าทรัพย์สิน เฉพาะที่ดิน นับ 2 หมื่นไร่ มีวัวพันธุ์ดีได้รับมาตรฐานสากลส่งออกไปทั่วโลก มีบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องการตลาดและธุรกิจการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว ที่พักร้านอาหาร นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนนับล้านคนต่อปี สิ่งที่โชคสรุปไว้ตอนท้าย ก็คือ “หมั่นสังเกต และมีเวลากับตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ ก็จะเกิด ประสบการณ์มีค่า เพียงแต่เราจะมองข้ามมันหรือไม่ คนมักคิดว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากการเรียน แต่จริงๆ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การเรียนทำให้คนทำเป็น แต่แรงบันดาลใจทำให้คนเก่ง”
และนี่คือสูตรสำเร็จนอกหลักสูตร ของพวกเขา
Source: BizWeek
No comments:
Post a Comment