หลังหุ้นบ้านเราลงแรงตามตลาดต่างประเทศ..ไม่แปลกคร้าบที่คนส่วนใหญ่จะมองในแง่ลบ.!! ยิ่ง.S&P มา downgrade อเมริกาด้วยแล้ว..หุหุ,..อย่างที่เขียนไปก่อนหน้านี้,..หนังชีวิตคร้าบ...!! แบบว่ายาวๆๆอยู่ซักพักนึง....กว่าฝั่ง US กะ Europe จะหายมึน..;วันนี้เลยขอนำบทความของ ดร.นิเวศน์ สำหรับคนที่พลาดไปยังไม่ได้อ่าน...เรื่องการเลือกหุ้นไว้ในการครอบครองเปรียบเทียบการเลือก หุ้นกับสาวงามในฮาเร็ม... บทความนี้น่าติดตามคร้าบ..!! เอาไว้ใช้กับสถานการณ์ตอนนี้ว่าในวิกฤตมีโอกาสเสมอคร้าบ..ในทาง technical มีดยังไม่ถึงพื้นอย่าเพิ่งเอามือไปรับ..แต่ถ้าเล่น fundamental แล้วยาวไป..พวกนี้เค้ารู้ดีคร้าบว่าหุ้นตกหนักๆแบบว่า panic sale นี่ต้องทำยังไง...555
เริ่มเลยคร้าบ....ลองจินตนาการดูว่าจะมีความสุขแค่ไหนถ้าเราเป็นสุลต่านที่มีความมั่งคั่งและอำนาจเด็ดขาดที่สามารถสั่งการเรื่องใดก็ได้ในอาณาจักรของตนเองทุกเช้าเวลาสิบโมงตรง หญิงงาม 500 คน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามจะถูกบัญชาให้เดินเรียงแถวเข้าเสนอตัวให้สุลต่านคัดเลือก เพื่อให้เป็นนางบำเรอหรือเป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขแล้วแต่ที่สุลต่านจะต้องการสาวงามแต่ละคนต่างก็อวดโฉมและเสนอตัวด้วยมารยาต่างๆ เพื่อหวังจะได้รับเลือกให้เป็นคู่ของสุลต่าน การได้รับเลือกเป็นความฝันสูงสุดของทุกคน สุลต่านเองก็มีประวัติและข้อมูลเฉพาะตัวเกี่ยวกับหญิงสาว เช่น อายุ ความสูง ส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย รวมถึงอุปนิสัยและความสามารถต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนสาวงามที่มากมาย ดูเหมือนว่าการเลือกสาวดูเหมือนจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อย คำถาม ก็คือ จะเลือกไว้สักกี่คน และจะเลือกคนไหน ที่จะทำให้เกิดความสุขสูงสุด
ถ้าเป็นสุลต่านที่กำลังมีความกำหนัดสูงและไม่ทันได้คิดถึงอนาคตที่ตามมา พระองค์ก็จะรีบที่จะเลือกสาวตั้งแต่คนต้นๆ สาวที่พระองค์คิดว่ามีความงดงามหรือมีจริตกิริยาน่ารักน่าใคร่ก็จะถูกเลือกไว้อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าและก่อนที่จะถึงสาวคนสุดท้าย พระองค์ก็จะได้ “นางบำเรอ” จำนวนมากมาเป็นคู่ ชีวิตหลังจากนั้น ดูเหมือนว่าจะสับสนวุ่นวาย สุลต่านไม่รู้แม้แต่ชื่อของหญิงทุกคนที่มาสัมพันธ์กับตนเองไม่ต้องพูดถึงความ “โรแมนติก” ที่จะได้รับจากการที่ได้กอดกับผู้หญิงที่รู้และเข้าอกเข้าใจ
ไม่เป็นการดีกว่าหรือที่สุลต่านจะเลือกหญิงงามแค่สัก 7 คน อืม..สัก 6 คนก็น่าจะพอ เพราะการ “ได้พัก” สักหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าการ “มีความสุข” ทุกวันโดยไม่ได้พักเลย ดังนั้น สิ่งที่สุลต่านควรทำ ก็คือ การกำหนดตั้งแต่ต้นว่าตนต้องการผู้หญิงที่จะมาเป็นคู่ที่จะเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี และมีความผูกพันที่ลึกซึ้งยาวนานพอสมควร ไม่ใช่ความสัมพันธ์อันฉาบฉวย จำนวนเพียง 6 คน ไม่ใช่สาวงามเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยคน
การเลือกสาวงามเพียง 6 คนจากจำนวน 500 คนนั้น ถ้าจะให้สาวงามเดินแถวเรียงเข้ามาเพื่อให้พิจารณาคงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ สาวงามแต่ละคนก็มี “จุดเด่น” และจุดด้อยกันคนละอย่างทำให้ตัดสินใจได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใด สาวงามแต่ละคนต่างก็พยายาม “พรีเซ้นท์” ตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ได้รับการคัดเลือก นี่อาจจะทำให้สุลต่าน “หลง” ไปกับสาวงามบางคนที่อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติที่ดีเท่าที่ควร ถ้าเช่นนั้นสุลต่านจะทำอย่างไรดี
วิธีที่จะคัดสาวงามที่จะทำให้ได้คนที่สวยและดีที่สุด ก็คือ การตั้ง “เกณฑ์” เพื่อจะตัดสาวงามที่มีคุณสมบัติบางประการไม่ถึงขั้นจะเป็นเลิศออก ตัวอย่างเกณฑ์ข้อหนึ่ง ก็คือ สาวที่มีความสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตรก็ไม่ต้องเดินเข้ามาโชว์ตัว เกณฑ์ข้ออื่น ๆ อาจจะเป็นเรื่องของส่วนโค้งส่วนเว้าหรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของสุลต่าน ยิ่งต้องการคนน้อยเท่าไรเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งหมด เกณฑ์ก็จะต้องเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น บางทีแค่ว่าตาเล็กใหญ่ไม่เท่ากันก็ต้องถูกคัดออกแล้ว ด้วยวิธีการแบบนี้ สุลต่านก็จะเหลือสาวงามจำนวนไม่มากที่จะพิจารณาคัดเลือก และนางงามเหล่านี้ต่างก็จะต้องสวยสดงดงามระดับนางงามอยู่แล้ว มิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่เข้มงวดมาได้ ถึงขั้นนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่สุลต่านจะได้สาวในฝันมาบำเรอตนเอง
ในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถเลือกสาวดังกล่าว ในชีวิตจริงนั้น บางคนก็สามารถเลือกคู่ได้มากกว่าคนอื่น คนที่มีทรัพย์สมบัติหรือรูปสมบัติที่ดีมากๆ ก็มักมีแนวโน้มที่จะเลือกคนอื่นประเภท “หล่อเลือกได้” “รวยเลือกได้” หรือสมัยนี้ก็อาจจะ “สวยเลือกได้” แต่สำหรับผมเองแล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตนี้มักจะออกในแนว “ถูกเขาเลือก” ตลอดมา หลาย ๆ ครั้งผมคิดว่าผมอยู่ในสถานะที่ “เสียเปรียบ” ไม่ว่าในการทำงานหรือการใช้ชีวิต บ่อยครั้งผม “เสนอตัว” เพื่อที่จะให้เขาเลือก เช่น เสนอตัวให้เขาเลือกเป็นพนักงาน หรือเสนอตัวเพื่อให้เขาเลือกให้เราและบริษัทเราทำงานให้เขา แต่ก็มักไม่ได้รับการคัดเลือก ประเด็น ก็คือ คุณสมบัติของเราไม่ดีพอ หน้าตารูปร่างเราไม่เด่นพอ เราไม่ได้มาจากสถาบันการศึกษาที่ดีเยี่ยมระดับโลก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ยุติธรรมแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” เราไม่ได้เกิดมาเป็น “สุลต่าน”
แต่ครั้นแล้วผมก็พบว่า ยังมีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ผมสามารถทำลายความ “ด้อย” ทุกอย่างที่ผมมี ในสถานที่แห่งนั้น ผมจะเป็น “สุลต่าน” ที่ผมจะเป็นฝ่ายที่เลือกได้ตามอำเภอใจ ที่นั่น ก็คือ “ตลาดหุ้น” ทุก 10 โมงเช้า จะมีหุ้นกว่า 500 ตัวเสนอตัวออกมาให้ผมเลือกว่าจะลงทุนซื้อหุ้นตัวไหนโดยที่ผมไม่ต้องแม้แต่จะขอร้องให้ออกมาโชว์ตัว หุ้นกว่า 500 ตัวนี้ ผมไม่มีความจำเป็นและไม่อยากที่จะมีไว้ครอบครองเกินกว่า 10-20 ตัว ว่าที่จริงหุ้นที่มีนัยสำคัญที่จะเป็น “คู่แท้” ที่ผมอยากมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนยาวนานนั้น ผมคิดว่ามีสัก 6 ตัว ก็เพียงพอและมีความสุขแล้ว การเกี่ยวข้องกับหุ้นจำนวนมากก็คงเหมือนกับการเกี่ยวข้องกับหญิงสาวของสุลต่าน มันไม่มีความโรแมนติกเสียเลย
วิธีการคัดเลือกหุ้นของผมก็เหมือนกับการคัดตัวหญิงสาวของสุลต่าน ผมตั้งเกณฑ์เข้มข้นว่าหุ้นประเภทไหนบ้างที่ผมไม่สนใจและจะคัดออกจากการพิจารณา สุลต่านกำหนดว่านางงามของตนนั้นต้องสูงอย่างน้อย 170 เซนติเมตร หุ้นของผมอาจจะต้องเป็นหุ้นที่ “โต” หรือโตเร็ว หุ้นที่กิจการไม่โตหรือจะเล็กลงในอนาคตผมจะตัดออก อะไรทำนองนี้ ถ้าจะว่าไป เกณฑ์ของผมคงจะเข้มงวดมาก ผมคิดว่ามีหุ้นหลายร้อยตัวในตลาดที่ผมแทบไม่พิจารณาเลย ผมทำได้ เพราะผมคิดว่า ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ผมเป็น “สุลต่าน” ไม่ว่าหุ้นจะ “สวย” แค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิที่จะมาเลือกผม ผมจะเป็นคนเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อมัน เหนือสิ่งอื่นใด ผมต้องการหุ้นแค่ 5- 6 เท่านั้นที่จะทำให้ผมประสบความสำเร็จในการลงทุน
ประเด็นที่สำคัญสำหรับผม ก็คือ ผมจะต้องตระหนักตลอดเวลาว่า ผมจะไม่ถูกหุ้น “เลือก” ความหมาย ก็คือ หุ้นนั้นก็คงเหมือนหญิง 500 คนที่เสนอตัวให้สุลต่านเลือก พวกหล่อนต้องแต่งตัวดีและยั่วเย้าเพื่อให้สุลต่านหลงเพื่อจะได้รับการเลือก หุ้นจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์นั้น เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับหญิงของสุลต่านที่พยายามยั่วให้คนมาซื้อ นั่นคือ ในทุกๆ วันจะมีหุ้นบางตัวมีราคาและปริมาณการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างหวือหวา และนั่น “ยั่ว” ให้นักเล่นหุ้นสนใจเข้าไปร่วมซื้อขายอย่างไม่ได้พินิจพิจารณาเป็นอย่างดี พวกเขาเข้าไปซื้อเพราะหวังกำไรอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ว่าที่จริงเขา “ถูกเลือก” ให้เข้าไป “เล่น” ในสถานการณ์แบบนี้ โอกาสที่จะได้ “หุ้นงาม” นั้นมีน้อย แต่โอกาสที่จะเสียจะมีมากกว่า น่าเสียดายที่คนเล่นหุ้นรายย่อยในตลาดนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มัก “ถูกเลือก” มากกว่าเป็น “ผู้เลือก”
Credit: ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
No comments:
Post a Comment