ราคาหุ้นที่เราเห็นเสนอซื้อเสนอขายกันทุกวันมีราคาขึ้นลงจนไม่น่าเชื่อว่า นี่คือมูลค่าของธุรกิจหรือบริษัทมหาชนที่ผลิตและขายสินค้าตามปกติทุกเมื่อเชื่อวัน
ราคาหุ้นมาจากอะไรกันแน่ ?
เบน เกรแฮม ปรมาจารย์เจ้าตำรับ Value Investing บอกไว้ว่าราคาหุ้นนั้นมาจากองค์ประกอบสามประการ องค์ประกอบแต่ละด้านมีผลต่อราคาหุ้นที่เราเห็นและทำให้ราคาหุ้นขึ้นลงไม่สอด คล้องกับมูลค่าที่มันควรจะเป็นในระยะสั้น องค์ประกอบเหล่านี้ ได้แก่
องค์ประกอบของมูลค่าที่แท้จริง หรือที่นักวิชาการการเงินเรียกว่า Intrinsic Value องค์ประกอบเหล่านี้ที่สำคัญได้แก่กำไรของกิจการซึ่งถือว่าเป็นหัวใจในการขับ เคลื่อนราคาหุ้น เซียนหุ้นแนว Value หลายคนถึงกับบอกว่าในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นกับกำไรของกิจการต้องไปด้วยกันเสมอ ไม่มีทางเป็นอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมั่นใจว่าบริษัทไหนจะมีกำไรมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ก็ซื้อหุ้นของบริษัทนั้นได้เพราะในระยะยาว ราคาหุ้นต้องขึ้นไปเสมอ แม้ว่าในระยะสั้นราคาอาจจะไม่ขยับหรือบางทีอาจจะลดลงด้วยซ้ำ
องค์ประกอบของมูลค่าที่แท้จริงที่สำคัญตัวต่อมาก็คือ ด้านของฐานะการเงินนั้นก็คือเรื่องของทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ ทรัพย์สินที่หักด้วยหนี้สินแล้วทรัพย์สินสุทธินี้เป็นพื้นฐานหรือราคาขั้น ต่ำของราคาหุ้น นั่นก็คือราคาหุ้นที่ซื้อขายกันไม่ควรจะต่ำกว่านี้ ถ้าเราเห็นหุ้นตัวไหนราคาตกลงมามากเหลือเกินจนต่ำกว่าทรัพย์สินทุทธิ เราสามารถเข้าไปซื้อหุ้นได้โดยไม่ต้องสนใจว่ากิจการจะดีหรือไม่เพราะในที่ สุดราคาจะต้องปรับตัวขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เซียนหุ้นน้อยคนจะใช้แนวทางนี้ ยกเว้นว่าราคาจะต่ำกว่าทรัพย์สินสุทธิมากจริงๆ จนคุ้มที่จะรอ
องค์ประกอบด้านพื้นฐานตัวสุดท้ายที่จะพูดถึงในที่นี้ก็คือเรื่องของปันผล ซึ่งก็เป็นตัวสำคัญในการกำหนดราคาหุ้นในสายตาของ Value Investor เพราะปันผลนั้นเป็นผลตอบแทนที่มีความแน่นอนกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น กฏง่ายๆของผมก็คือ ถ้าเรามั่นใจว่าปันผลของบริษัทไม่น่าจะลดลงและคิดแล้วเท่ากับ 5% ต่อปีขึ้นไป การซื้อหุ้นตัวนั้นก็น่าจะปลอดภัยเพราะเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร มาก ราคาของหุ้นน่าจะยืนอยู่ได้
องค์ประกอบกลุ่มที่สองที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น ก็คือองค์ประกอบของมูลค่าในอนาคต หรือ Future Value ซึ่งหลายคนอาจจะเรียกว่า Growth หรือการเจริญเติบโตของธุรกิจในอนาคต
องค์ประกอบในกลุ่มของมูลค่าในอนาคตนี้ ตัวสำคัญได้แก่โอกาสที่ธุรกิจจะมียอดขายสินค้ามากขึ้น ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นหรือต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้กำไรในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นกว่าพื้นฐานเดิมหรือเรียกว่า กิจการมีการเจริญเติบโตขึ้น
นอกจากการเจริญเติบโตแล้ว องค์ประกอบของมูลค่าในอนาคตของกิจการยังประกอบด้วยภาวะการแข่งขันใน อุตสาหกรรมและอนาคตของบริษัทด้วยว่ามีความสดใสมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวหรือการแข่งขันจากทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ รุนแรงมาก มูลค่าในอนาคตของบริษัทก็ลดลง ตรงกันข้ามถ้าภาวะธุรกิจยอดเยี่ยม คู่แข่งน้อยลง ความต้องการสินค้าในตลาดสูงขึ้น และบริษัทอยู่ในฐานะได้เปรียบคู่แข่งขัน มูลค่าในอนาคตก็มากขึ้น
ตัวสุดท้ายของมูลค่าในอนาคตที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องของผู้บริหารของ บริษัทว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงดีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในด้านของการดูแลบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เรียกว่าบรรษัทภิบาล
มีการศึกษาและพูดกันว่าบรรษัทภิบาลที่ดีสามารถเพิ่มราคาหุ้นได้ถึง 20 หรือ 25 % ข้อเท็จจริงคงพิสูจน์ได้ยากแต่ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นตืว่าผู้บริหารที่ซื่อ สัตย์สุจริตมีค่ามหาศาลต่อมูลค่าหุ้นของบริษัท และโดยส่วนตัวผมจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ผู้บริหารไม่น่าไว้ วางใจ
องค์ประกอบกลุ่มสุดท้ายที่มีส่วนในการกำหนดราคาหุ้นค่อนข้างมากโดยเฉพาะใน ตลาดหุ้นไทยก็คือ องค์ประกอบทางด้านตลาดหรือ Market Factor นี่คือองค์ประกอบที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวกิจการหรือพื้นฐานของธุรกิจแต่เป็น เรื่องของภายนอกที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นให้ขึ้นลงได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว คล้ายๆ กับคลื่นในทะเล และในบางครั้งเหมือนฟองสบู่
องค์ประกอบด้านตลาดตัวแรกที่จะพูดถึงก็คือเรื่องของจิตวิทยาของนักลงทุน ถ้านักลงทุนมีความรู้สึกมั่นใจว่าตลาดหุ้นกำลังขึ้นก็จะเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อไรที่นักลงทุนรู้สึกว่าตลาดกำลังตก คนก็จะเทขายหุ้นทำให้ราคาตกลงมาทั้งๆ ที่หุ้นจำนวนมากมีพื้นฐานเหมือนเดิมเช่นเดียวกัน การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีส่วนกำหนดราคาหุ้นได้เช่นเดียวกัน เช่น เวลาที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงอย่างรวดเร็วมาก บางทีนักลงทุนก็มองว่าราคาหุ้นในขณะนั้นจะยืนอยู่ไม่ได้ต้องปรับตัวลงมา “ทางเทคนิค” หรือในกรณีหุ้นหรือตลาดปรับตัวลงมาต่ำมาก จนต่ำกว่า “แนวรับทางเทคนิค” หุ้นนั้นก็น่าจะปรับตัวขึ้น
สุดท้ายขององค์ประกอบทางด้านการตลาดที่มีส่วนในการกำหนดราคาหุ้นมหาศาลก็คือ เรื่องของการปั่นหุ้นซึ่งเป็นวิธีที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่ใช้ในการ “ปั่น” ให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างผิดธรรมชาติ เพื่อขายหุ้นราคาต่ำที่ตนเองซื้อไว้ก่อนหน้านั้น การปั่นหุ้นเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย แต่โดยทั่วไปแล้วการที่จะจับคนปั่นหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่ยากจนแทบเป็นไปไม่ ได้ โดยเฉพาะถ้าคนที่ปั่นได้ศึกษากฏหมายและรู้เรื่องของการซื้อขายหุ้นเป็นอย่าง ดี หุ้นที่ขึ้นไปจากการปั่นราคานั้นในไม่ช้าราคาก็จะตกกลับมาอยู่ที่เดิมเช่น เดียวกับหุ้นที่ขึ้นลงตามเทคนิคและจิตวิทยา แม้ว่าระยะเวลาจะแตกต่างกันไป
ในทัศนะของเบน เกรแฮม แล้ว การลงทุนจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบทางด้านพื้นฐานและองค์ประกอบของมูลค่าใน อนาคตในขณะที่การเก็งกำไรจะพิจารณาจากองค์ประกอบด้านมูลค่าในอนาคตและองค์ ประกอบด้านตลาดเป็นหลัก
ถ้าจะสรุปให้ชัดเจนก็คือ องค์ประกอบของมูลค่าที่แท้จริงหรือทางด้านพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่มั่นคง โอกาสผิดพลาดน้อย คนที่ลงทุนด้วยองค์ประกอบนี้ขาดทุนยาก องค์ประกอบด้านมูลค่าในอนาคตหรือการเจริญเติบโตนั้นถึงจะมีส่วนในการกำหนด ราคาหุ้นมาก แต่ความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ถ้าสามารถคาดการณ์ได้หรือมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคม โอกาสทำกำไรก็สูง และสุดท้ายคือองค์ประกอบด้านตลาดซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมาก และต้องการการติดตามใกล้ชิด โอกาสที่จะทำกำไรในบางขณะก็มีสูงมาก แต่โดยเฉลี่ยแล้วนักเล่นหุ้นจะไม่ได้กำไรจากวิธีการนี้ยกเว้นว่าจะเป็น “เจ้ามือ” คือคนปั่นหุ้นเอง
Source: Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Source: Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
No comments:
Post a Comment