Monday, April 23, 2012

อาการเบื่องาน

บทความสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่น่าสนใจอีกเรื่องเกี่ยวกับอาการเบื่องาน จากบล็อกความรู้ WiseKnowโดย พอใจ พุกกะคุปต์

ดิฉันมีอาชีพในการพัฒนาบุคลากร จึงโชคดีได้มีโอกาสเข้าไปเห็นเบื้องหลังการถ่ายทำขององค์กรน้อยใหญ่
สิ่งหนึ่งที่ค้นพบ คือ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทั่วไป หรือองค์กรที่มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ต่างล้วนมีปัญหามากมาย ที่น่าสนใจคือ หลายปัญหาหน้าตาเหมือนกัน
ปัญหาเหล่านี้มีอาทิ ปัญหาเรื่องการสื่อสาร สื่อเท่าไรไม่เข้าใจกัน กระหน่ำสื่อเท่าไรก็ยังไม่ทั่วถึง แม้สื่อซ้ำๆ แต่ก็เหมือนย้ำไม่พอ
ปัญหาเรื่องการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง รู้ทั้งรู้ว่าต้องขยับ ต้องปรับ ต้องเปลี่ยน เขียนเป็นแผนกลยุทธ์มี Strategy Map หรูหรา มี KPI ที่เขาใช้ในระดับโลก มี BSC มี IDP มี PMS มี A-Z มีสารพัดจัดเต็ม
ไม่มีอย่างเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ
ปัญหาเรื่องหัวหน้างาน ที่เก่งทุกอย่างยกเว้นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เก่งทุกอย่างแต่ไม่สร้างผู้นำยุคต่อไป เก่งทุกเรื่องแต่จะเคืองหากถามว่าวางอนาคตเติบโตก้าวหน้าให้ลูกทีมแล้วหรือยัง หรือเก่งทุกอย่างแบบหาตัวจับยากหากไม่นับเรื่องงาน
ข่าวร้ายข้างต้น หากค้นเขี่ยดีๆ จะเห็นว่ามีข่าวดีสำหรับเราคนทำงาน
ปัญหารุ่มร้อนนอนไม่หลับคับข้องใจในที่ทำงาน ล้วนเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่หนีไม่พ้น ต้องประสบพบพานในงานของตน ต่างเพียงมีมากบ้าง น้อยบ้าง มาเร็วบ้าง ช้าบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ
ดังนั้นท่านไหนที่กำลังท้อ กำลังเบื่อหน่าย อยากขายบริษัท (เพียงแต่ยังทำไม่ได้เพราะไม่ใช่เจ้าของ) จึงกำลังมองหาที่ทำงานใหม่ แต่ยังหาไม่ได้เพราะตระหนักว่าออกไปก็เสี่ยง อาจเป็นการเลี่ยงเสือกลับปะจระเข้ยักษ์ กรุณาอย่าเพิ่งยอมแพ้แก่โชคชะตา หรือโทษโกรธใครๆ ให้เสียเวลา เสียพลังใจ
เพราะยังมีหลายสิ่งที่เราทำได้ ตั้งสติเริ่มใหม่ ลองเลือกใช้วิธีการเหล่านี้ค่ะ
1. ลุกขึ้นมาหารือกับหัวหน้างานเพื่อขอปรับเปลี่ยนบทบาทหรือเนื้องานบางส่วน หารือกับหัวหน้าอย่างมีสติ สุขุม ถึงปัญหาที่พบ และเสนอแนะทางเลือกที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูง ทั้งสำหรับองค์กร ทีมงาน และตัวหัวหน้าเอง
คำเตือน: กรุณาอย่าหารือโดยมุ่งเน้นที่ปัญหาและประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวผม ผม และ ผม
หามุมสำคัญให้พบว่า หากปรับบทบาทตามเสนอ ประโยชน์จะตกกับท่านหัวหน้า และหน่วยงานอย่างไรด้วย..สวยกว่ามาก
2. ขอโอกาสทำงานกับบุคคลอื่นบ้าง หากงานปัจจุบันอึดอัดนัก อาจหาโอกาสพักคลายจากความกดดัน โดยขอผันเวลาบางส่วนไปทำงานร่วมกับทีมอื่น อาทิ ทำกับทีม Sales อื่นในฝ่ายเดียวกัน หรือ ขออยู่ในโครงการเฉพาะกิจของ HR ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกทีม หรือ มีโครงการที่หน่วยงานใช้ที่ปรึกษาจากภายนอก ก็ลุกขึ้นมาบอกหัวหน้าว่า ขออาสามีส่วนร่วม เพราะต้องการเรียนรู้ซึมซับ จะได้กลับไปใช้ในทีม
แม้มิได้อึดอัดกับใครในฝ่ายเดียวกัน แต่การได้เปิดหู เปิดตา หาเพื่อนร่วมงานใหม่ ก็ถือเป็นการสร้างสีสันในชีวิตการทำงาน ยิ่งหากขยันเรียนรู้ ดูคนอื่นอย่างตั้งใจ เราจะได้เรียนจากมุมใหม่ เป็นกำไรทั้งสิ้น
นอกจากนั้น การสร้างเครือข่าย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับใครๆ มีแต่ได้กับได้ ไม่มีเหนื่อยฟรี
3. ขอผันกายไปทำงานฝ่ายอื่น หากสุดทดท้อ การขอย้ายงานก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างมิติใหม่ในการทำงาน โดยไม่ต้องไปเผชิญโชคหางานใหม่ในองค์กรใหม่ หากยังไม่ถึงเวลา
ยิ่งถ้าได้ปูทางจากวิธีการในข้อ 2 น่าจะมีคนพร้อมโอบอุ้มรับเราให้ไปอยู่กับเขา เพราะเราเคยแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ ได้ทำตนเป็นคนน่ารัก น่าเชื่อถือ พร้อมให้ความร่วมมือมาก่อน
ก่อนคุยกับหัวหน้างาน กรุณาทำการบ้านในการมองหาจุดที่หากขยับไป น่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย อย่าเข้าไปตีโพยโวยวายว่าขอย้ายงาน โดยฝันหวานว่าหัวหน้าจะเนรมิตทางออกที่แสนถูกใจให้โดยเราไม่ต้องทำการบ้านให้เหนื่อยยาก
นอกจากนั้น ต้องเตรียมเสนอแนวทางอุดช่องโหว่ว่า เมื่อเราขยับไปที่ใหม่ มิใช่แค่จะสะบัดอวัยวะไป แต่ไปด้วยความรับผิดชอบ ช่วยวางกรอบไว้ว่างานเก่าเราจะสอนใคร จะผ่องถ่ายอย่างไร ให้หัวหน้ามั่นใจว่าไม่เสียงานให้ท่านเดือดร้อน
คำเตือน: หากต้องการมีทางเลือกนี้ ยิ่งต้องตั้งสติให้มั่นว่า ยามเซ็งและท้อ ยิ่งต้องไม่นั่งงอก่องอขิง ยิ่งต้องตั้งใจทุ่มให้มีผลงาน เพราะหากปล่อยให้จิตต่ำ งานตก จนถูกยกเป็นมนุษย์มีปัญหา ย่อมยากที่จะมีที่สิงสถิตใหม่
4. ขอปรับเวลาการทำงาน อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหากับคนทำงานจำนวนไม่น้อย คือความกดดันเรื่องเวลาทำงานและเวลาที่ต้องให้กับภาระอื่นใดในชีวิต
ทดลองหาข้อเสนอใหม่ๆ ในการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ลุล่วง โดยไม่ยึดติดกับเวลามาตรฐานในการเข้างาน เช่น พร้อมอยู่ดึกหากได้เข้างานสาย พร้อมรับงานชิ้นใหม่หากให้ทำที่บ้านบางส่วน
คำเตือน: ย้ำว่า การขออะไร อย่าเอาตัวเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ให้คิดเผื่อใจในมุมของหัวหน้า ว่าทำอย่างไรให้เขาเห็นประโยชน์ร่วมกัน
5. เปลี่ยนบรรยากาศห้องหรือโต๊ะทำงาน ยังปรับอะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็สามารถลุกขึ้นมาปรับขยับในส่วนที่เป็นของเรา ให้คลายเหงา เศร้าซึมน้อยลง เช่น โต๊ะที่รกหมกเอกสารไว้นานนับปี ก็ลุกขึ้นมาจัด ปัดฝุ่น วางดอกไม้ ย้ายของ ให้มองโล่งโปร่งตา น่าจะช่วยให้มีกำลัง เพิ่มพลังได้ ไม่ต้องรอง้อใครให้มาช่วย
6. หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายและใจ ไม่ให้ละเหี่ยเพลียใจเปลี้ยกาย จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์
ยิ่งใจล้า ยิ่งต้องหาพลังเติมเสริมทางกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การพักผ่อนให้เพียงพอ และขอเวลานอกออกกำลังกายคลายเครียด
ร่างกายที่พร้อม ย่อมไม่บั่นทอนพลังใจและพลังสมอง ที่ยิ่งต้องใช้หนักยามสถานการณ์ไม่เอื้อให้เบิกบานเพราะงานเข้า
7. หาที่ปรึกษาเพื่อระบายความในใจและให้แนวทาง ความอึดอัดในใจที่ล้นปรี่ ต้องหาที่ปลดปล่อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าปล่อยให้อัดใจจนระเบิดเกิดปัญหา โดยเฉพาะต้องหลีกเลี่ยงการเหวี่ยงกระทบกระแทกมั่วทั่วไป จนใครๆ เอือมระอา
คำเตือน: ผู้ที่เราจะเล่าความอึดอัดในใจ กรุณาเลือกให้เหมาะ เพราะหากเขาเล่าต่อ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ อาจทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสขึ้น
เลือกเพื่อนหรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจนอกองค์กรก็ได้ ไม่ผิดกติกา จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
สรุปว่า ปัญหาหนักหนาคาใจในที่ทำงาน เป็นเรื่องแสนปกติธรรมดา ไม่ช้าก็เร็ว ต้องประสบพบบ้าง จะหนีไปที่ไหน ไม่ต้องแปลกใจเมื่อพบเขานั่งตั้งใจดักรอเราที่นั่น
หากยังเลือกที่จะอยู่ในองค์กรปัจจุบันต่อไป ต้องไม่นิ่งดูดาย ตีโพยตีพายว่าไม่มีใครดูแล เพราะตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นคนแรก
หากไม่สู้ ถือว่าปิดประตูชนะแบบแน่นสนิท ไม่ต้องคิดมากค่ะ
Source: พอใจ พุกกะคุปต์ http://www.wiseknow.com

No comments:

Post a Comment