Idea Library: ถ่ายทอดความคิดและมุมมองผ่าน ชีวิตนักลงทุน ที่มีต่อตลาดทุน และ ชีวิตการทำงาน ในสังคมประเทศไทย..!
Monday, November 14, 2011
คิดเชิงกลยุทธ์ โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Value Investor ระดับเซียนนั้น ผมคิดว่าจะต้องเป็น “นักคิด” ที่เฉียบคม และการคิดนั้น จะต้องเป็นการคิดในเชิงกลยุทธ์ นั่นคือ เป็นการคิดเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ การแข่งขัน ที่จะทำให้ฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ หรือใครจะนำและใครจะตาม “ตำแหน่ง” ของใครดีกว่าตำแหน่งของคนอื่นและทำให้ได้เปรียบคู่ต่อสู้หรือคู่แข่งขัน ว่าที่จริง นักลงทุนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนคิดว่าจะต้องใช้กลยุทธ์อะไร เขาเพียงแต่ต้องรู้หรือดูให้เป็นว่ากลยุทธ์หรือตำแหน่งของใครเป็นอย่างไรและดีกว่าคู่แข่งอย่างไร เขาคิดและ “ตัดสิน” ว่าใครจะชนะหรือใครได้เปรียบและอนาคตจะเป็นอย่างไร ความคิดของเขามักจะถูกมากกว่าผิดเพราะมันเป็นความคิดที่มีเหตุผลและมีหลักวิชาการที่ถูกต้อง
ความคิดที่มีเหตุผลและเป็นเชิงกลยุทธ์นั้น ผมคิดว่าต้องมีการฝึกฝนและบางทีอาจจะเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวด้วย ดูอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น เขาชอบเล่นบริดจ์เป็นชีวิตจิตใจและเล่นได้เก่งมากทีเดียว บริดจ์นั้นเป็นเกมที่ต้องใช้ทั้งความคิดและความจำและต้องมีกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยม การที่เขาชอบเล่นเกมนี้เป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งว่าเขาชอบ “การคิดและการวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้ได้ชัยชนะในการแข่งขัน”
ส่วนตัวผมเองนั้น เมื่อมองย้อนหลังไปในช่วงที่ยังเป็นเด็ก ผมชอบเล่นเกมที่เกี่ยวกับความคิดและการแข่งขันหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจก็คือการเล่นหมากรุกจีนซึ่งผมจะเล่นกับเพื่อนบ่อย ๆ และเมื่อเล่นแล้วผมแทบจะลืมกินอาหาร หมากรุกนั้นเป็นเกมการแข่งขันที่ต้องใช้การวางแผน โดยแผนที่ดีนั้นจะต้องมีการมองไปข้างหน้าหลาย ๆ ก้าว นอกจากการวางแผนเพื่อเอาชนะแล้ว คนเล่นยังต้องคอยระวังและป้องกันการ “รุก” ของคู่ต่อสู้ด้วย ผมไม่ได้เป็นนักเล่นหมากรุกที่ยอดเยี่ยมอะไร แต่ทุกวันนี้เมื่อมีเวลาว่างผมก็ยังเล่นหมากรุกจีนอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นการเล่นกับคอมพิวเตอร์เป็นหลักเนื่องจากหมากรุกจีนนั้น คนที่เล่นกันในปัจจุบันดูเหมือนจะมีน้อยมากและต่างก็อายุมากกันแล้ว
การเล่นเกมที่ต้องใช้ความคิดในเชิงกลยุทธ์นั้น ผมคิดว่านอกจากจะช่วยทำให้เราคิดเก่งในการใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์แล้ว ยังช่วยลับสมองเราไม่ให้เสื่อมถอยเร็วเกินไปเวลาเราแก่ตัวลงด้วย และเกมที่ผมคิดว่าช่วยฝึกสมองให้คิดแบบเชิงกลยุทธ์เราได้นั้น นอกจากบริดจ์และหมากรุกทุกประเภทแล้ว ยังน่าจะรวมถึงเกมโกะ และโมโนโปลี่ ส่วนเกมอย่างหมากฮอสหรือการเล่นไพ่อย่างเกมไพ่รัมมี่นั้น ถึงจะต้องใช้การวางกลยุทธ์บ้างแต่ผมคิดว่ามันยังใช้ไม่มากพอ นอกจากนั้น เกมใช้สมองอย่างอื่นเช่นเกมต่ออักษรให้เป็นคำที่เรียกว่า Cross Words หรือเกมเรียงตัวเลขอย่างซูโดกุ นั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เกมที่ใช้กลยุทธ์เป็นหลักในการเล่น ดังนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ในแง่ของการลงทุน
ลำพังการมีความสามารถในการเล่นเกมต่าง ๆ ดังกล่าวคงไม่เป็นประโยชน์กับการลงทุน นักลงทุนที่จะเก่งนั้นต้องคิดไปถึงเรื่องของกลยุทธ์ในการต่อสู้และการแข่งขันใน “ชีวิตจริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางธุรกิจ การที่จะมีความสามารถอย่างนั้นได้ นอกจากความสามารถในการคิดแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ “วิชาการ” นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องศึกษาและต้องอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการต่อสู้และการแข่งขันต่าง ๆ ให้มาก การแข่งขันหรือการต่อสู้ที่ต้องใช้กลยุทธ์นั้น นอกจากในวงการธุรกิจแล้วก็ยังมีในเรื่องของสงคราม การเมือง และ เชื่อไหมครับว่า เป็นเรื่องของชีวิตของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หรือคนธรรมดา ถ้าเราคิดเป็นแบบกลยุทธ์เราก็จะเห็นว่าใครใช้กลยุทธ์อย่างไรและเขา “ชนะ” เพราะเหตุใด แต่ถ้าเราอ่านหรือศึกษาโดยไม่ได้คิดแบบเชิงกลยุทธ์ เราก็จะอ่านผ่าน ๆ ไปและอาจคิดไปว่าคนชนะนั้น เป็นไปเพราะเหตุผลต่าง ๆ เช่น เขาเก่ง เขาฉลาด เขาสวยหรือหล่อ หรือแม้แต่เพราะเป็นเรื่อง “บังเอิญ” หรือ “โชค”
ถ้าเราฝึกฝนการคิดอย่างเป็นกลยุทธ์อยู่เสมอเราก็จะมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นแบบเชิงกลยุทธ์ นั่นคือ เรามักจะถามเสมอว่าอะไรหรือกลยุทธ์อะไรที่ทำให้คนหนึ่ง “ชนะ” อีกคนหนึ่ง “แพ้” บริษัทหนึ่งชนะและอีกบริษัทหนึ่งแพ้ องค์กรหนึ่งชนะและอีกองค์กรหนึ่งแพ้ ประเทศหนึ่งชนะและอีกประเทศหนึ่งแพ้ เราจะเห็นถึงความได้เปรียบและความเสียเปรียบของคู่แข่งหรือคู่ต่อสู้รวมทั้งรู้ว่าอะไรเป็นความได้เปรียบ“ชั่วคราว” และอะไรเป็นความได้เปรียบ “ถาวร” และนี่ก็คือสิ่งที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เรียกว่า Durable Competitive Advantage หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น “เสาหลัก” ในการลงทุนในหุ้นสุดยอดสไตล์บัฟเฟตต์
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการคิดเชิงกลยุทธ์และวิชาการเกี่ยวกับกลยุทธ์การแข่งขันนั้น ผมแนะนำว่าควรจะเริ่มจากการอ่านหนังสือกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งมีอยู่มากมาย แต่คนที่ผมคิดว่าสามารถอธิบายได้อย่างเข้าใจง่ายและสั้นก็คือ อัลรีส (Al Ries) ซึ่งเสียชีวิตแล้ว และ แจ๊คเทร้าท์ (Jack Trout) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการตลาด การวางตำแหน่งของบริษัทในการแข่งขัน และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ธุรกิจใช้ในการต่อสู้กัน หลังจากเข้าใจเรื่องกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาดแล้ว เราก็จะเข้าใจกลยุทธ์ในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก และถ้าเราหมั่นฝึกฝนการคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งเราก็จะเข้าใจ “เบื้องหลัง” ความสำเร็จและความล้มเหลวของแต่ละบริษัทหรือแต่ละคน และนั่นจะนำไปสู่การเลือกหุ้นลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูง
**********************
คิดเชิงกลยุทธ์
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร August 1, 2009
โลกในมุมมองของ Value Investor
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment