"ตลาดหุ้น" ที่ชาวบ้านซื้อขายหุ้นกันอยู่ทุกวันนี้จัดอยู่ในประเภท ตลาดรอง (Secondary Market) ของตลาดทุน
ส่วน ตลาดหลัก (Primary Market) จริงๆ ของตลาดทุนซึ่งเป็นตลาดที่กิจการทั้งหลายใช้ระดมทุนเพื่อขยายกิจการ คือ "ตลาด IPO" หรือที่เรานิยมเรียกกันติดปากว่า "หุ้นจอง" นั่นเอง
ตลาดหลักเป็นตลาดที่เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภาคจริง เพราะเมื่อกิจการขายหุ้นจอง เงินที่ได้จะเข้าบริษัทเพื่อนำไปใช้ในกิจการ หลังจากนั้น บริษัทก็มักจะนำหุ้นของบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อให้หุ้นของบริษัทกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดหุ้นได้ หลังจากนี้แล้ว การซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนมือไปมาระหว่าง นักลงทุนเท่านั้น ไม่ได้มีเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทเพื่อนำไปใช้ในกิจการอีกต่อไป นั่นคือ สิ่งที่ใช้แยกความแตกต่างระหว่างตลาดหลักกับตลาดรอง ก็คือ เมื่อมีการขายหุ้นแล้ว เงินไปไหน ถ้าเป็นตลาดหลัก เงินจะเข้าสู่บริษัท แต่ถ้าเป็นตลาดรอง เงินจะเข้ากระเป๋าผู้ที่ขายหุ้น
ประเด็นนี้ทำให้มีบางคนกล่าวหาตลาดหุ้นว่าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เพราะเงินไม่ได้เข้าบริษัทเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจจริงๆ เงิน เพียงแต่ไหลจากกระเป๋าของนักลงทุนคนหนึ่งไปยังกระเป๋าของนักลงทุนอีกคนหนึ่งไปเรื่อยๆ เท่านั้น และนักลงทุนในตลาดหุ้นก็หากินด้วยการซื้อหุ้นมาในราคาหนึ่งแล้วขาย ออกไปในราคาที่สูงกว่าแล้วเก็บกำไรเข้ากระเป๋า บางคนถึงกับบอกว่าน่าจะยกเลิกตลาดหุ้นไปเลยเหลือไว้แต่ตลาด IPO ก็พอ นั้นเป็นความคิดของคนที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ลองคิดดูว่า ถ้าหากไม่มีตลาดรอง ตลาดหลักจะอยู่ได้หรือไม่ คงแทบไม่เหลือนักลงทุนคนไหนที่จะกล้าซื้อหุ้นจองจากบริษัทอีกต่อไป เพราะนักลงทุนเหล่านั้นย่อมรู้ว่า เมื่อซื้อมาแล้วจะไม่สามารถขายหุ้นนั้นต่อให้ใครได้ หรือถ้าขายได้ก็มักต้องยอมขายขาดทุนมากๆ เพื่อให้มีใครสักคนยอมซื้อ ดังนั้น เหตุผลที่แท้จริงที่ต้องมีตลาดหุ้น ก็เพื่อให้ตลาดหลักสามารถดำรงอยู่ได้นั่นเอง
บางคนคิดว่าการที่รถยนต์มีตลาดมือสองนั้นทำให้ตลาดมือหนึ่งแย่ลง เพราะตลาดมือสองจะแย่งลูกค้าส่วนหนึ่งของตลาดมือหนึ่งไป แต่ที่จริงแล้ว ลองคิดดูว่า ถ้าผู้บริโภคซื้อรถยนต์มาแล้ว ห้ามขายต่อโดยเด็ดขาด จะมีผู้บริโภคที่กล้าซื้อรถยนต์มือหนึ่งมากขึ้นหรือน้อยลง ทุกวันนี้ มีคนส่วนหนึ่งที่กล้าซื้อรถใหม่บ่อยๆ ก็เพราะเขารู้ว่าเขาสามารถขายต่อในตลาดมือสองเมื่อไรก็ได้ ขาดทุนนิดหน่อยแสนสองแสนถือว่ากำไรใช้ เลยทำให้ตลาดรถใหม่ขายดี ฉันใดก็ฉันนั้น ตลาดรองช่วยส่งเสริมตลาดหลักด้วยการทำให้สินค้าของตลาดหลักกลายเป็นสินค้า ที่มีสภาพคล่องสูง คนที่ซื้อหุ้นจองไปแล้วหากวันดีคืนดีเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วนขึ้นมา ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะขายต่อให้ใครไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีบางคนอยากเห็นตลาดหุ้นมีแต่นักลงทุนระยะยาวอย่างเดียว ไม่มีนักเก็งกำไรระยะสั้น เพราะพวกเขามีทัศนคติในแง่ลบกับคำว่า "เก็งกำไร" แต่ที่จริงแล้ว ลองคิดดูให้ดี ถ้าในตลาดหุ้นมีแต่นักลงทุนทั้งหมด ไม่มีใครเป็นนักเก็งกำไรเลย สภาพคล่องในตลาดหุ้นคงหายไปมากกว่า 95% ถ้าการขายหุ้นออกในตลาดหุ้นกับการไปเร่ขายหุ้นด้วยตนเองนอกตลาดหุ้นมีความ ยากลำบากเท่ากันเพราะหาคนซื้อได้ยากก็ไม่รู้ว่าจะมีตลาดหุ้นเอาไว้เพื่ออะไร ดังนั้น ตลาดหุ้นที่มีคุณค่าต้องเป็นตลาดที่มีคน จำนวนหนึ่งในตลาดยินดีที่จะซื้อหรือขายหุ้นบ่อยๆ โดยแลกกับโอกาสทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ ทุกวันเพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับคนที่เป็นนักลงทุน กล่าวคือ ทำให้คนที่เป็นนักลงทุนระยะยาวสามารถขายหุ้นออกได้เสมอ (โดยไม่ต้องขายขาดทุนมากๆ) เมื่อใดก็ตาม ที่พวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน พูดง่ายๆ ก็คือ การซื้อๆ ขายๆ ของนักเก็งกำไรช่วยลด liquidity risk ให้กับคนที่เป็นนักลงทุนนั่นเอง
ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับบางแนวคิดที่ว่า เป้าหมายของการพัฒนานักลงทุนรายย่อย คือ การทำให้นักลงทุนรายย่อยหันมาลงทุนระยะยาวกันให้หมด สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่า คือ ทำอย่างไรนักลงทุนรายย่อยจึงจะเป็นนักลงทุนที่มีภูมิต้านทาน กล่าวคือ ตัดสินใจจากข้อมูลที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้เป็นหลัก ไม่ถูกชักจูงไปได้ง่าย ไม่เชื่อข่าวลือข่าวปล่อยต่างๆ ไม่แห่ตามกันโดยขาดวิจารณญาณของตนเอง ส่วนจะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น นักเทคนิค หรือนักลงทุนระยะยาวนั้น ผมกลับคิดว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ นักลงทุนทุกแบบล้วนแต่มีคุณค่าต่อตลาดทุนทั้งสิ้น หากตั้งใจจะเป็นนักเทคนิค ก็ควรศึกษาเทคนิคให้จริงจัง คนที่เล่นสั้นหลายคนที่ผมรู้จักเป็นคนที่ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ ผมก็ไม่เคยรู้สึกเป็นห่วงพวกเขาเลย เพราะผมมั่นใจว่าคนนิสัยแบบนี้จะสามารถเอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้อย่างแน่นอน
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
15 มิถุนายน 2554
No comments:
Post a Comment