การลงทุนนั้นเป็นศิลปะ “ชั้นสูง” อย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงมี “คำพูด” ของกูรูมากมายที่พูดถึงการลงทุน ลองมาดูว่ามีคำพูดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและใช้อ้างอิงจนกลายเป็นคำพูดคลาสิก หรือเป็นคำพูดอมตะที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอะไรบ้าง
คำพูดแรก คงต้องยกให้เป็นของ เบน เกรแฮม ในฐานะที่เป็น “บิดา” ของการวิเคราะห์การลงทุนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ “ตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นเสมือนเครื่องลงคะแนน แต่ในระยะยาวเป็นเสมือนเครื่องชั่ง” ความหมายก็คือ ในระยะสั้นๆนั้น ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง ราคาก็จะขึ้นตามการ “ลงคะแนน” ของนักลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทว่ามันจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีกำไรมากหรือเทียบกับว่ามีน้ำหนักมาก ตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไรหรือน้ำหนักนั้น
คำพูดแรก คงต้องยกให้เป็นของ เบน เกรแฮม ในฐานะที่เป็น “บิดา” ของการวิเคราะห์การลงทุนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ “ตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นเสมือนเครื่องลงคะแนน แต่ในระยะยาวเป็นเสมือนเครื่องชั่ง” ความหมายก็คือ ในระยะสั้นๆนั้น ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง ราคาก็จะขึ้นตามการ “ลงคะแนน” ของนักลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทว่ามันจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีกำไรมากหรือเทียบกับว่ามีน้ำหนักมาก ตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไรหรือน้ำหนักนั้น
คำพูดที่สอง ผมคงต้องยกให้กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บัฟเฟตต์บอกว่า “หลักการรวบยอดสำหรับนักลงทุนก็คือ การเลือกบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่” นอกจากนั้น เขายังมีคำพูดต่อเนื่องจากหลักการนี้ว่า “มันเป็นเรื่องดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรม แทนที่จะซื้อบริษัทที่ดีพอควรในราคาที่ถูกมาก”
ความหมายของคำพูดแรกก็คือ เวลาจะซื้อหุ้นนั้น นักลงทุนจะต้องดูเสียก่อนว่ามันเป็นกิจการหรือบริษัทที่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องไปลงทุน ถ้าดีแล้วก็ต้องดูต่อว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเหมาะสมหรือเปล่า ถ้าราคาแพงก็อย่าซื้อ ถ้าไม่แพงหรือถูก ก็ซื้อ หลังจากนั้นก็เก็บหุ้นไว้ ไม่ต้องคิดว่าจะขายแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือตก จะขายต่อเมื่อกิจการนั้นเริ่มจะไม่ดีแล้ว ส่วนคำพูดที่สองนั้นบอกว่า การซื้อหุ้นของกิจการที่ดีในราคาที่เหมาะสมนั้นอาจจะมีสองแบบ และแบบที่ดีก็คือ ซื้อกิจการที่ดีมากๆ ดีกว่าซื้อกิจการที่ดีธรรมดา แม้ว่าราคาหุ้นของกิจการที่ดีมากจะแพงกว่ากิจการธรรมดาๆมาก
คำพูดที่สาม ผมคิดว่าต้องยกให้กับ จอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงระดับต้นๆของโลก เขาพูดว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าคุณถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญก็คือ คุณกำไรเท่าไรเมื่อคุณถูก และคุณขาดทุนเท่าไรเมื่อคุณผิด” ความหมายก็คือ สำหรับโซรอสแล้ว เขาจะคิดผิดกี่ครั้งก็ไม่สำคัญตราบที่เขาไม่ได้ “พนัน” หรือลงทุนมาก หรือคิดผิดแต่ขาดทุนไม่มากเพราะเขา “ขายทิ้งทัน” นั่นก็คือ คุณต้องรู้ตัวเร็วว่าคุณคิดผิด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าโอกาสชนะสูงมากคุณจะต้องกล้า “เดิมพัน” และทำกำไรมโหฬาร หรือกล้าที่จะ let profit run หรือถือทำกำไรมากๆก่อนที่จะขายได้
คำพูดที่สี่ ผมยกให้กับนักเก็งกำไร “ระดับตำนาน” อีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วคือ Jesse Livermore เขาพูดว่า “ตลาดหุ้นคือที่ที่อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทำการบ้าน คนโง่ และคนที่ชอบรวยทางลัด” นี่เป็นคำพูดของนักเก็งกำไรที่มีชีวิตขึ้นๆลงๆพอๆกับราคาหุ้นและความมั่งคั่งของเขา และเป็นคำเตือนที่มีค่ายิ่งสำหรับนักเก็งกำไรว่า การเก็งกำไรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้คนรวยได้ในชั่วข้ามคืน การเป็นนักเก็งกำไรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องทำงานหนักและต้อง “ฉลาด” ด้วย มิฉะนั้นคุณอาจจะเจ๊งได้ง่ายๆ
คำพูดที่ห้า ผมขอยกมาจาก ปีเตอร์ ลินช์ นักบริหารกองทุนรวมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เขาพูดว่า “ราคาหุ้นกับกำไรจะไปด้วยกันเสมอ ถ้าราคาหุ้นแยกออกไปจากเส้นกำไร ไม่ช้าก็เร็วมันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไรเสมอ” ความหมายของลินช์ก็คือ ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นกับกำไรต้องไปด้วยกันเสมอ อย่ากลัวว่าหุ้นจะลงมาหากกำไรของบริษัทยังดีอยู่ ยิ่งหุ้นลงยิ่งเป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้น เพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็จะต้องวิ่งกลับมาตามกำไรที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินกำไรที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าในไม่ช้า ราคาก็อาจจะต้องปรับตัวลงมาหาเส้นกำไรเช่นกัน มองในแง่นี้เขาจะต่างจาก บัฟเฟตต์ ที่ลงทุนแล้วไม่ค่อยขาย ในขณะที่ของ ลินช์ นั้น มีโอกาสที่เขาจะขายหุ้นมากกว่าเพราะแม้ว่ากิจการยังดีอยู่แต่ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงเกินไป เขาก็อาจจะขายหุ้นเหมือนกัน
คำพูดที่หก เป็นของ บัฟเฟตต์ อีกครั้งคือ “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากในบางสถานการณ์ที่ในชีวิตการลงทุนของเราจะต้องประสบอยู่เป็นครั้งเป็นคราว โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดดีมากหรือยามที่เกิดวิกฤติ การกลัวเมื่อคนอื่นโลภนั้นทำยาก แต่มันอาจจะช่วยให้เรารอดจากหายนะได้ ในทางตรงกันข้าม ในยามวิกฤติที่ทุกคนกลัวและถอนตัวออกจากตลาดนั้น มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะรู้สึกโลภ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำได้ มันอาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาลได้
คำพูดที่เจ็ด ผมขออ้างถึง ลอร์ด เคน นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานของโลกและเซียนหุ้นที่ “โลกลืม” เขากล่าวคำอมตะว่า “ในระยะยาวแล้ว ทุกคนก็ตายหมด” ความหมายก็คือ อย่ารอเวลาโดยอ้างว่าเป็นเรื่องระยะยาว ถ้าจะมีผลมันก็ต้องเห็นในเวลาอันสั้น ถ้าจะประยุกต์ใช้กับการลงทุนก็คือ ถ้าคุณลงทุนมาหลายปียังไม่เห็นมรรคผล โอกาสก็คือ วิธีหรือกลยุทธ์ที่ใช้คงผิดพลาด ต้องเปลี่ยนแปลง อย่าคิดว่าต่อไปมันจะดีโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ
สุดท้ายผมขออ้างหลักธรรมที่คนไทยทุกคนรู้จักดี แต่อาจจะไม่ตระหนักว่ามันเกี่ยวข้องกับการลงทุน นั่นก็คือคำพูดที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ซึ่งแปลว่า ความไม่เที่ยงแท้ ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน นั่นก็คือ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูงไม่แน่นอนและมันอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ได้แสนสาหัส ดังนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่นกับมัน ปล่อยวางเสียและเตือนตัวเสมอว่า สิ่งต่างๆมันไม่เที่ยง อย่าประมาทเวลาลงทุน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
29 สิงหาคม 2553
29 สิงหาคม 2553
No comments:
Post a Comment