ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้หันมาให้ความสนใจต่อการสร้างความสุขให้กับประชาชนของประเทศตนเองมากขึ้น
หลังจากที่ภูฏานได้มีการวัด Gross National Happiness ก็มีประเทศอื่นๆ นับสิบประเทศที่หันมาวัดเจ้า GNH กันมากขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็พยายามศึกษา ค้นคว้า หาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศตนเองมีความสุข ผมเองไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยทำหรือศึกษากันบ้างหรือเปล่านะครับ แต่ไปเจอเอกสารงานวิจัยของ NEF หรือ New Economic Foundation (เขาบอกว่าเป็น think-and-do tank ครับ ไม่ใช่แค่ think-tank) ที่เขาได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องของ Well-Being ของประชาชนชาวอังกฤษให้กับรัฐบาลอังกฤษ โดยได้ระบุถึงแนวทางห้าประการที่มาการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น
แนวทางทั้งห้าประการที่จะนำเสนอในวันนี้ พวกเราคนธรรมดาก็สามารถที่จะนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มความสุขให้กับชีวิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน) ส่วนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐก็น่าจะนำมาศึกษาและปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสุขให้กับประชาชนนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดนั้นไม่ควรที่จะเน้นการฟื้นฟูแต่เฉพาะสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เศรษฐกิจ การสร้างงาน อุตสาหกรรม ถนน สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างกลไกและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะทำให้ประชาชนมีสุขด้วยครับ
จริงๆ แล้วแนวทางทั้งห้าประการก็เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือสามารถทำให้เกิดได้เป็นประจำในชีวิตประจำวันของเรานะครับ และท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็ได้ใช้แนวทางเหล่านี้อยู่แล้วแม้กระทั่งในช่วงที่ประสบอุทกภัยเช่นในปัจจุบัน แนวทางทั้งห้าประการประกอบด้วย
การ Connect หรือ การติดต่อ สื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรอบๆ ข้างเราครับ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ซึ่งบางท่านอาจจะมองการติดต่อ สื่อสารเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับบางคนนั้น วันๆ หนึ่งอาจจะไม่ได้พูดคุยหรือสื่อสารกับใครเลยก็ได้ครับ การมีสังคมและสื่อสารกับผู้อื่นนั้นนอกจากจะช่วยสร้างความสุขแล้วยังถือเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญต่อความเครียดอีกด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับ จะพบว่าในช่วงน้ำท่วมนั้น ดูเหมือนว่าเราจะสื่อสารกันมากขึ้นด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะผ่านทางสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าจะมีการโพสต์ข้อความต่างๆ มากกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำ
Be Active หรือ การมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การออกกำลังกาย การเล่นเกม ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเรามีการเคลื่อนไหวหรือได้ออกกำลังกาย ไม่อยู่นิ่งเฉย โดยแต่ละคนจะต้องแสวงหากิจกรรมที่เหมาะกับร่างกายและความชอบของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายนั้น มีผลวิจัยพิสูจน์ไว้เยอะมากครับว่าทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และลดอาการซึมเศร้า และความเครียด
Take Notice หรือ การเฝ้าสังเกตหรือชื่นชมต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ท่านอาจจะพยายามมองให้เห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา รับรู้และเฝ้ามองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว และที่สำคัญอย่าลืมชื่นชมต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
Keep Learning หรือ การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นทางการในห้องเรียนก็ได้นะครับ เพียงแค่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาก็มีความสุขได้แล้ว โดยอาจจะเป็นการเรียนรู้ในสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยรู้ (และลืมไปแล้ว) หรือ การทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และมีความท้าทาย เช่น หัดใช้โปรแกรมใหม่ๆ หัดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ฯลฯ การที่เราสามารถเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เราเกิดความมั่นใจ และเกิดความสนุกอีกด้วย
Give หรือ การให้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการให้ในลักษณะของสิ่งของก็ได้นะครับ เพียงแค่การทำสิ่งดีๆ ให้คนรอบข้าง การรู้จักที่จะขอบคุณผู้อื่น การยิ้ม การเป็นอาสาสมัคร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทำให้มีความสุขได้ทั้งสิ้นครับ ยิ่งการให้ที่ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ยิ่งจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ดังนั้นไม่แปลกใจนะครับว่าพวกเราจำนวนมากที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีการให้กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ เวลา กำลังกาย ฯลฯ โดยเฉพาะการให้ต่อผู้ที่ประสบความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ที่ให้นั้นก็จะได้รับความสุขจากการให้กลับมา แต่สงสัยนะครับว่าพวกที่แทนที่จะให้แต่กลับแสวงหาประโยชน์เข้าตนเองในสถานการณ์นี้จะมีความทุกข์เพิ่มขึ้นหรือไม่?
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
No comments:
Post a Comment