Thursday, May 31, 2012

สรุปความจากหนังสือการลงทุนของ ดร.นิเวศน์

หัวข้อน่าสนใจในการลงทุนสรุปความโดย Artemis แห่ง forum.sarut-homesite
วันนี้ว่างๆเลยค้นหนังสือที่เคยอ่านของดร.นิเวศน์ มาเปิดดูเลยตัดสินใจนำเอาหลักการและแนวคิดของดร.มาเล่าสู่กันฟัง โดยเนื้อหาทั้งหมดจะนำมาจากหนังสือที่ดร.เขียน ซึ่งนำมาสรุปสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน จะนำมาเฉพาะหัวข้อที่คิดว่าน่าสนใจ หยิบยกมาแค่บางส่วน
หนังสือ เล่นหุ้นในปีทอง
1.บัญญัติ 10 ประการ ของการเล่นหุ้นแบบ VI
  • ศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น อย่าใช้อารมณ์ในการซื้อหุ้น อย่าโลภ
  • อย่าสนใจข่าวลือ หรือ หุ้นเด็ด
  • ให้ความสำคัญกับตัวกิจการหรือตัวหุ้นมากกว่าสภาพตลาดหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป อย่าให้ภาพของตลาดหรือเศรษฐกิจมาหันเหการตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา
  • หุ้นมักจะดูแย่กว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดตกต่ำถึงพื้นในช่วงตลาดหมี และดูดีกว่าที่คิดใรช่วงที่ตลาดวิ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงตลาดกระทิง (จงมีความกล้าหาญที่จะซื้อเมื่อทุกอย่างดูเลวร้าย และขายเมื่อทุกอย่างดูดีจนไม่น่าเชื่อ)
  • จำไว้้ว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถซื้อหุ้นในราคาพื้นฐานและขายหุ้นได้ที่จุดสูงสุด ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาจะต้องขึ้นทันที หรือขายหุ้นแล้วก็หวังว่ามันจะลง ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อม่ันกับการวิเคราะห์มูลค่าของเรา
  • ถ้ามั่นใจว่าบริษัทที่เราลงทุนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีอนาคตในการเติบโตที่ดีมาก อย่าขายเพียงเพราะว่าราคาหุ้นอาจจะดูเหมือนว่าสูงเกินไปหรือหุ้นวิ่งขึ้นมาเร็วเกินไปชั่วคราว
  • อย่า หลงรักหุ้น จน ตาบอด เพราะมันจะทำให้เราไม่สามารถวิเคราะ์กิจการได้อย่างเป็นกลางและไม่มีความลำเอียง
  • อย่าสนใจว่าหุ้นเคยอยู่ที่จุดไหนมาก่อน จงสนใจว่าหุ้นจะไปที่ไหน เช่น กิจการอาจเคยกำไร 100 ล้านบาท ราคาหุ้นอาจเคยอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น แต่ขณะนี้กำไรเหลือเพียง 10 ล้านบาท ราคาหุ้นตกลงมาเหลือ 2 บาทต่อหุ้น อย่าไปคิดว่ากิจการและหุ้นจะต้องกลับไปที่เดิมหรือใกล้ๆกับที่เดิม
  • เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง
  • ใช้เวลากับการลงทุน ตรวจสอบกิจการและหุ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกสิ่งเปล่ียนแปลงไป เราต้องปรับการลงทุนเพื่อให้สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลง

2.ชีวิตชีวาของหุ้น

     ทุกครั้งที่เราซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องคิดเสมอว่าเราลงทุนในธุรกิจ บางคนอาจจะสงสัยว่า อ่าว!หุ้น กับธุรกิจก็เหมือนกันนะ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ หุ้น มีราคาขึ้นๆ ลงๆทุกวัน แต่ธุรกิจนั้นเป็นของจริงที่มีโรงงานหรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบ มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับ ลูกค้า ซึ่งบางครั้งหรือบ่อยคร้ังอาจจะเป็นตัวเราเองก็ได้ที่เป็นลูกค้าของบริษัทที่เราซื้อหุ้น โดยบางครั้งเราอาจจะทดสอบว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนจากการสัมผัสกับกิจการ
  • ปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้นก็คือ ธุรกิจนั้นเรา ภูมิใจ ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่
  • ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์ หรือเป็น แฟชั่น หรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็ต้องระวังอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง
  • กิจการมีการเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากการเปิดร้านสาขาใหม่ๆเพื่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลใกล้เคียงและทำเลใหม่ๆที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน
  • เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึกโดนมากรู้สึกประทับใจ และยิ่งลูกค้าอื่นก็พูดคล้ายๆกันว่าประทับใจ จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการ ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทได้
  • รู้สึกว่าบริษัทมีความมั่นคงมาก
  • พนักงานของบริษัทดูดีเช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง มีความภูมิใจที่ได้ทำงานบริษัทนี้
  • กิจการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีบริการใหม่ๆมาเสนอต่อลูกค้าตลอด สินค้ายังคงมีคุณภาพ โดยเราสามารถสังเกตได้ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
หนังสือ SUPER STOCK มหัศจรรย์ของหุ้น VI
3. ลดความเสี่ยงแบบ VI

     
การลงทุนในหุ้น มีความเสี่ยงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรหรือกองทุนต่างๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเราควรจะต้องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลงเท่าที่จะทำได้ ต่อไปนี้ คือ เกณฑ์การลดความเสี่ยงง่ายๆ

          1)
รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นหลักการสำคัญ
         
          2)
กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ถือหุ้นจำนวนมากหรือน้อยตัวเกินไป ควรจะถืออยู่ระหว่าง 5-10 ตัว ถ้าถือหุ้นน้อยตัวเกินไป เช่น 1-2 ตัว เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ และการมีหุ้นมากตัวเกินไปก็มีความเสี่ยงในแง่ที่ว่า เราไม่สามารถติดตามได้ ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่รู้

          3)
พยายามมองยาว คือวิเคราะห์ไปในอนาคต 3-5 ปี และวางแผนว่าจะลงทุนยาวตามกันไป เพราะว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวไปตามกำไรของบริษัทเสมอ และถ้าเรามั่นใจในกำไรระยะยาวของบริษัท เราก็จะไม่ค่อยเสี่ยง ตรงกันข้ามในระยะสั้น หุ้นมักจะผันผวนไปตามภาวะตลาดและการเงินซึ่งคาดการณ์ยาก

          4)
เลือกบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอทั้งยอดขายและกำไร กิจการเหล่านี้มักจะ คาดการณ์ได้ง่ายและไม่ค่อยผิดพลาดมากนัก จึงมักจะสามารถทนทานต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมได้มากกว่าหุ้นของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่แน่นอน

          5)
เลือกหุ้นที่ให้ปันผลสม่ำเสมอและในอัตราที่เหมาะสม ประมาณปีละ 3-4 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเมื่อเทียบกับราคาหุ้น เพราะปันผลที่สม่ำเสมอนั้นเป็นฐานที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ราคาหุ้นไม่ตกลงมากเวลาตลาดหุ้นมีปัญหา

          6)
เลือกบริษัทที่มีเงินสดมากและมีหนี้เงินกู้น้อยหรือไม่มีเลย เพราะโอกาสที่กิจการพวกนี้จะเจ๊งมีน้อยมาก และมักจ่ายปันผลดี ช่วยให้หุ้นมีเสถียรภาพสูงกว่าหุ้นที่มีหนี้มหาศาล

          7)
เมื่อซื้อหุ้นแล้ว ถ้าจะลดความเสี่ยง เราต้องติดตามบริษัทตลอดเวลา ทั้งตัวเลขผลการดำเนินงานและข่าวสารต่างๆของบริษัท ถ้าทำได้ พยายามสัมผัสกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มากที่สุด กลับไปดูที่ร้าน กลับไปตรวจสอบความนิยม อย่าปล่อยให้ราคาหุ้นหรือตลาดหุ้นเป็นตัวกำหนดชี้อารมณ์และความคิดของเรา

          8)
ติดตามข่าวคราวทางเศรษฐกิจ การเงิน และภาวะตลาดหุ้นบ้าง

          9)
หลีกเลี่ยงการกู้เงินหรือใช้มาร์จินในการลงทุน เพราะความเส่่ียงสูง โดยเฉพาะในช่วงสั้นที่หุ้นอาจจะมีความผันผวนเนื่องจากปัจจัยต่างๆที่ไม่อาจคาดคิดได้ ต้องคิดเสมอว่า ถ้าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเวลาลงทุนถ้าเรากู้หรือใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้น เราต้องรู้ว่าเราจะรับได้แค่ไหน ถ้าเกิดวิกฤตหุ้นตัวนั้นมีค่าลดลงมากหรือพอร์ตหุ้นทั้งหมดมีค่าลดลงมาก แน่นอน โอกาสที่สิ่งเลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นมีน้อยมากแต่เราจะเสี่ยงไปทำไม
ตลาดหุ้น คือ ที่ที่อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทำการบ้าน คนโง่ และคนที่ชอบรวยทางลัด - Jessy J. Livermore”

4.
กฎของสงคราม

     
นักลงทุนหุ้นคุณค่า ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิเคราะห์กิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดของบริษัท ซึ่งก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว การแข่งขัน หรือสงครามการตลาดระหว่างบริษัทกับคู่ต่อสู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งหรือร่วง ต่อไปนี้คือกฎสำคัญที่สุดบางข้อที่นักลงทุนควรรู้

     
กฎข้อแรก ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ในสงครามการตลาด บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีงบโฆษณามหาศาล มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า รบอย่างไรก็ชนะทุกที ถึงแม้ว่าบางช่วงบางตอน เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้นๆแต่จะให้ได้ชัยชนะถึงขั้นเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องคุณภาพของคนหรือคุณภาพของสินค้า อาจทำให้เราหลงผิดได้ เราอาจจะคิดว่าฝ่ายหนึ่งที่ีมีคนเหนือกว่า หรือมีสินค้าที่ดีเด่นกว่า ฝ่ายนั้นอาจจะเป็นฝ่ายนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามักเน้นว่าปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพแต่จากการวิจัยพบว่า ต่อให้สินค้าจะดีเลิศกว่าคู่แข่งแค่ไหน แต่มันเป็นรายเล็ก มีทรัพยากรน้อยสุด สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผู้บริโภคก็อาจจะคิดว่าถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้วดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศนั้น
 
     
กฎข้อสอง ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายรุกรบ ในการสงครามนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับมักจะยึกชัยภูมิที่อยู่สูงหรือมีสนามเพาะเป็นแนวป้องกันข้าศึก เวลารบจะได้เปรียบมากเพราะเวลาศัตรูบุกเข้ามา โอกาสที่จะถูกยิงนั้นสูงกว่าเนื่องจากไม่มีที่กำบัง ในสงครามการตลาดเองนั้น ผู้นำที่ยึดชัยภูมิ’(ไม่ใช่จังหวัดแถบอีสานนะฮะ) การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้วก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายามโจมตีอย่างไรก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะคู่แข่งต้องใช้ทรัพยากรมาก อย่างเช่น มองง่ายๆถ้ามีคู่แข่งรายใหญ่มากมาจากต่างประเทศจะเข้ามาแข่งกับบริษัท CPF ซึ่งเป็นผู้นำที่โดดเด่นทางด้านการผลิตหมู ไก่ ส่งออก และมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงเว่อร์ๆในประเทศไทย ยากที่ใครจะเอาชนะได้รวมทั้งรู้สภาพแวดล้อมการตลาดในประเทศไทยเป็นอย่างดี เช่นนี้แล้วรายใหญ่จากต่างประเทศก็ตายสถานเดียว เพราะในต่างประเทศเขาอาจจะใหญ่และยึดชัยภูมิที่ดีไว้แล้ว แต่ในประเทศไทยเขาเป็นฝ่ายรุกและรายเล็ก ดังนั้นจะเกิดข้อเสียเปรียบ

     
กฎข้อสาม ศึกษาชัยภูมิของข้าศึก แล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา จากนั้นเราก็จะสามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ชัยภูมิทางการตลาดนั้น อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเคาน์เตอร์ขายสินค้า สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น ชัยภูมิของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ แต่ตอนนี้อิชิตันเริ่มมาแล้ววว หรือชัยภูมิของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน ชัยภูมิใด ประเด็นสำคัญคือ เราอยากได้ยริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ 5. การลงทุนของดร.นิเวศน์
          เมื่อดร.ได้พบกับสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจ จึงค่อยหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน โดยจะพิจารณาจากทั้งปัจจัยทางด้านคุณภาพและปัจจัยทางด้านราคา

     ปัจจัยทางด้านคุณภาพ ดูจาก
              
  • รูปแบบการทำธุรกิจ เป็นกระบวนการในการทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด ช่องทางการจำหน่่าย การบริการหลังการขาย บุคลากร รวมไปถึงรายละเอียดว่าผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไร คุณภาพ ราคาระดับไหน ง่ายๆคือ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการ
  • ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยที่บริษัทอาจจะมี
                   1) สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริษัทมียี่ห้อที่โดดเด่นที่ลูกค้าต้องการ เป็นยี่ห้อที่ลูกค้าเลือกที่จะซื้อมากกว่ายี่ห้ออื่น หรือการมีลิขสิทธิ์ สัมปทาน
                    2) สินค้าหรือบริการของบริษัท อาจจะมีลักษณะที่ทำให้ลูกค้ามีความลำบากที่จะเลิกใช้หรือเปลี่ยนผู้ให้บริการ
                    3) บริษัทมีเครือข่ายลูกค้าที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก
                    4) บริษัทมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต การให้บริการที่เกิดกระบวนการผลิตหรือให้บริการ ต้นทุนที่ต่ำกว่าเนื่องจากทำเลที่ตั้ง,ขนาดของธุรกิ
  • ผลการดำเนินงานหรือกำไรของบริษัท บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอ มั่นคง ไม่ถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้มากนัก
  • ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ถ้า ROE ของบริษัทที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในหลักประมาณตั้งแต่ 15 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็ถือว่าอยู่ในอัตราใช้ได้ แต่เวลาดู ROE ควรดูด้วยว่าบริษัทไม่ได้กู้เงินมากที่ทำให้บางครั้ง ROE สูงแต่จริงๆแล้วเป็นการเอาเงินคนอื่นมาใช้              
  • ฐานะการเงินหรือหนี้สิน ชอบบริษัทที่มีหนี้น้อย เราไม่ชอบบริษัทที่พยายามโตเร็วเกินความจำเป็นโดยการก่อหนี้มากเกินอัตราส่วนที่ควรจะเป็น              
  • ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด นั่นคือ ธุรกิจที่มักไม่ต้องลงทุนมากในการที่จะรักษายอดขายหรือขยายกิจการต่อไป เช่น ธุรกิจขายปลีก เวลาขายมักรับเงินสด แต่จ่ายค่าสินค้ากับsupplier เป็นเงินเชื่อ หุ้นของบริษัทที่มีเงินสดมากและมีกระแสเงินสดดี จะสามารถรักษาราคาดีกว่าบริษัทที่มีหนี้สูงหรือบริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินที่ต่ำ              
  • ผู้บริหาร มีความโปร่งใส เปิดเผย หรือเปิดตัวต่อสาธารณชน มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำอะไรมีเหตุมีผล คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และจัดสรรกำไรอย่างเหมาะสม

     ปัจจัยทางด้านราคา               
  • PE Ratio โดยทั่วไปแล้วหุ้นที่น่าสนใจเข้าซื้อควรจะมีค่า PE ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาด และควรจะต่ำกว่าค่า PE ในอดีตของตัวมันเอง แต่การซื้อหุ้นที่มี PE ต่ำก็ต้องดูด้วย เพราะบางครั้งอาจมีค่า PE ต่ำด้วยเหตุผลที่เลวร้าย เช่น ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดลง หรือสัมปทานของบริษัทกำลังจะหมดอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรจะหลีกเลี่ยง             
  • PB Ratio             
  • อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล             
  • มูลค่าตลาดของหุ้น หุ้นที่ดร.เห็นว่าน่าสนใจที่สุดมักจะอยู่ในกลุ่ม หุ้นขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หุ้นเหล่านี้ถ้าเติบโตถึงจุดที่กลายเป็นหุ้นขนาดกลางก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาได้ และนี่จะเป็นจุดที่สามารถขับดันให้ราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้นไปได้มาก
Source: Artemis by forum.sarut-homesite.net

No comments:

Post a Comment