Thursday, April 19, 2012

"ญี่ปุ่น" ความท้าทายที่เปลี่ยนในยุคดิจิทัล

นอกจากจะมีความศิวิไลซ์ด้านสังคม วัฒนธรรม ความมีระเบียบวินัยของคนแล้ว นิสัยและพฤติกรรมของคนญี่ปุ่น ก็มีเอกลักษณ์ แตกต่างไม่เหมือนใคร
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีความศิวิไลซ์ด้านสังคม วัฒนธรรม ความมีระเบียบวินัยของคนแล้ว นิสัยและพฤติกรรมของคนญี่ปุ่น ก็มีเอกลักษณ์ แตกต่างไม่เหมือนใคร ในอดีต ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมมือถืออย่างโนเกีย ที่ไม่ว่าจะไปก่อตั้งรากฐานที่ประเทศไหน ก็มักจะประสบชัยชนะในตลาดประเทศนั้นๆ ไม่เป็นเบอร์หนึ่งก็เป็นเบอร์สอง
มีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวครับที่โนเกีย พ่ายแพ้ยับเยิน มีส่วนแบ่งตลาดของโทรศัพท์มือถือเพียงแค่ 1% และต้องถอนตัวไปจากตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2008 หลังจากที่พยายามบุกตลาดญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990
แม้โนเกียยังคงทำตลาดแบรนด์มือถือหรูอย่างเวอร์ทู (Vertu) และยังมีบริการเครือข่ายแบบเอ็มวีเอ็นโอ ที่เช่าโครงข่ายจาก เอ็นทีที โดโคโม แต่ก็ทำตลาดไปได้เพียง 3 ปี และต้องถอนตัวจากญี่ปุ่นในทุกธุรกิจเมื่อสิ้นปี 2011
ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชื่อดังจากเมืองลุงแซม อย่างเวนดีส์ (Wendy’s) ก็มาเปิดให้บริการในญี่ปุ่นยาวนานถึง 29 ปี ก่อนจะปิดให้บริการ 71 สาขาและถอนตัวออกไปในปี 2009
ปี 2010 ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 1 ของโลกอย่าง โวดาโฟน ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในค่ายมือถือยักษ์ใหญ่นามซอฟท์แบงก์ โมบาย ออกไป หลังจากที่ โวดาโฟน เคยประสบความล้มเหลวในตลาดญี่ปุ่น จนต้องขายกิจการต่อให้ ซอฟท์แบงก์ ในปี 2006 มาก่อนหน้านี้ ทิ้งเป็นปริศนาท้าทายในยุคนั้นว่า ยังจะมีแบรนด์ยุโรปหรือแบรนด์อเมริกันรายใดที่หาญกล้าเข้ามาบุกตลาดแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ได้อีก
ในยุคดอทคอมรุ่งเรือง กูเกิล ไมโครซอฟท์ ก็พยายามรุกตลาดญี่ปุ่นอย่างหนัก ทั้งผลักดันบริการอีเมล เว็บพอร์ทัล บริการค้นหา แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการของญี่ปุ่นเองได้
แต่ความน่าสนใจของตลาดญี่ปุ่น ที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 100 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 127 ล้านคน ทำให้ทั้งกูเกิลและไมโครซอฟท์ไม่ถอดใจ และยังคงต่อสู้ในตลาดญี่ปุ่นเรื่อยมา แม้ว่าที่สุดแล้ว กูเกิลครอบครองส่วนแบ่งตลาดของบริการค้นหาเป็นอันดับ 1 แต่ส่วนแบ่งตลาดที่ได้มานี้ ไม่ได้มาจากการพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนญี่ปุ่นจริงๆ
แต่เป็นอานิสงส์ที่มาจากการเป็นพาร์ทเนอร์กับ ยาฮูเจแปน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นต่างหาก
ขณะที่ ไมโครซอฟท์แม้จะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายกับ เอ็กซ์บ็อกซ์ และ คิเน็กซ์ แต่ในตลาดญี่ปุ่นแล้ว กลับสร้างยอดขายได้อย่างน่าผิดหวังเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง โซนี่ เพลย์ สเตชั่น และค่ายเกมอย่าง นินเทนโด
ความท้าทายของการทำธุรกิจในแดนอาทิตย์อุทัยยังคงมีต่อไป แต่ในยุครุ่งเรืองของ โซเชียล เน็ตเวิร์ค เหตุการณ์กลับเริ่มเปลี่ยนแปลง
ญี่ปุ่นมี โซเชียล เน็ตเวิร์ค ของตัวเอง ใช้ชื่อว่า “Mixi.com” เปิดให้บริการมานานถึง 8 ปี มีผู้ใช้มากกว่า 30 ล้านบัญชี ผู้ใช้ Mixi.com เป็นผู้ใช้ที่มีความเหนียวแน่นมาก Mixi.com จึงเป็นเจ้าตลาดที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีคู่แข่งขันที่พอจะสู้กับ Mixi.com ได้เลย ตั้งแต่เปิดให้บริการมา
จนกระทั่งการเข้ามาในญี่ปุ่นของเฟซบุ๊ค ได้สร้างความท้าทายให้แก่ Mixi.com เป็นอย่างยิ่ง ด้วยยอดการเติบโตของผู้ใช้ที่สูงถึง 10 ล้านบัญชี ในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ทำให้ Mixi.com ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อไปได้อีก ไม่เช่นนั้น ตำแหน่งผู้นำที่รักษามาได้ถึง 8 ปีอาจจะเปลี่ยนมือในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว โดยนอกจาก เฟซบุ๊ค แล้ว ทวิตเตอร์เองก็ยังเป็นบริการ โซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ด้วยความที่คนญี่ปุ่นนิยมการส่งข้อความสั้น มาตั้งแต่การส่ง เอสเอ็มเอส ทำให้การส่งข้อความในข้อจำกัด 140 ตัวอักษร เป็นสิ่งที่ถูกจริตกับคนญี่ปุ่นมาก อีกทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือหลักในการรายงานเหตุการณ์และแจ้งข่าวสารที่สำคัญต่อประชาชน คนญี่ปุ่นที่ใช้ทวิตเตอร์จึงไม่จำกัดเพียงแค่วัยรุ่นเหมือนบริการอื่น แต่ยังแพร่ขยายออกไปยังกลุ่มคนวัยอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันในแต่ละวัน 14% ของจำนวนทวีตทั้งหมดทั่วโลก เป็นการทวีตของคนญี่ปุ่นที่ใช้ทวิตเตอร์อยู่ประมาณ 14.5 ล้านคน กลายเป็นบริการ โซเชียล เน็ตเวิร์ค อีกตัวที่เข้ามาท้าทายเจ้าถิ่นอย่าง Mixi.com
แม้ว่าทั้ง เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ สามารถแจ้งเกิดได้อย่างสวยงามในตลาดญี่ปุ่น เพราะมี Core Value ที่สอดคล้องความคิด วัฒนธรรม ลักษณะนิสัยของกลุ่มผู้ใช้ ต่างจากแบรนด์ดังหลายแบรนด์ในอดีตที่พยายามขายในสิ่งที่ตัวเองเคยทำสำเร็จมา แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะล้ม Mixi.com เจ้าถิ่นได้สำเร็จ ....เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ครับว่า ใครจะชนะ
Source: Marketing Hub by วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง

No comments:

Post a Comment