Tuesday, December 20, 2011

One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 1)

บทความสรุปดีๆที่นำมาฝากกัน มาจากหนังสือที่ไม่มีใครไม่รู้จักถ้าอยู่ในแวดวงการลงทุน One Up Wall Street: เหนือกว่าวอลสตรีท โดย SiTh LoRd P@cK จาก stock2morrow.
One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 1)

หนังสือด้านการลงทุนที่ผมมีอยู่นั้น มีอยู่หลายเล่ม แต่เล่ม 1 ในดวงใจของผมจริงๆคือ One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท ของ ปีเตอร์ ลินซ์ ซึ่งแปลโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผมใช้เวลาเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมาตะลุยอ่านหนังสือเล่มนี้ จนจบบทแรก (บทแรกของผมนี้เกือบ 200 หน้านะครับ ไม่ใช่บทแรกในหนังสือ) สิ่งที่ผมกลั่นกรองและอยากมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง มีอยู่สองประเด็นที่ปีเตอร์ ลินซ์ เน้นหนักพอสมควร ประเด็นแรกคือ "ความเสี่ยง" ประเด็นที่สองคือ "การคาดการณ์"
ในเรื่องของความเสี่ยง ผมคิดว่าการทำอะไรก็ตามย่อมมีความเสี่ยงที่ตามมา คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นความเสี่ยงที่สูง โอกาสหมดตัวมีมาก สู้เอาเงินไปฝากแบงค์กินดอกเบี้ยหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลดีกว่า หรือที่เขาพูดเป็นศัพท์หรูๆว่า Free Risk หรือ ไร้ความเสี่ยงนั้นเอง........ ผมอยากจะบอกว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเป็นความเสี่ยงที่มากกว่า เราเรียนจบมหาวิทยาลัย มักจะได้การปลูกฝังว่า การเป็นลูกจ้างนั้นไม่มีความเสี่ยงเพราะทุกๆเดือนเราจะมีเงินเดือนทุกๆเดือนเข้ากระเป๋าแน่นอน ผมมีเพื่อนคนหนึ่งจบวิศวะมาแต่ต่างมหาวิทยาลัย ทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งเป็นคนตรวจเช็คสภาพเครื่องจักร โชคร้ายที่เพื่อนผมคนนั้นเกิดพลาดท่าเครื่องจักร นิ้วเท้าทั้ง 5 ของเขาถูกตัดขาดไปเกือบหมด นี้แหละครับ คือความเสี่ยงประการหนึ่งที่ได้จากการทำงาน แต่ความเสี่ยงจากการสูญเสียอวัยวะในร่างกายเป็นความเสี่ยงที่ยากจะรับได้

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า "ความเสี่ยง" ที่คนส่วนมากหวาดกลัวนั้น เราสามารถจำกัดความเสี่ยงได้โดยการศึกษาหาความรู้ สิ่งที่เราทำไปโดยไม่รู้ นั้นแหละคือความเสี่ยง ก่อนการลงทุนทุกครั้งเราควรจะศึกษาหาความรู้ เช็สภาพของบริษัท ปีเตอร์ ลินซ์ได้ให้แง่คิดไว้ว่า
"การขาดทุนของคุณถูกจำกัดด้วยเงินที่คุณลงทุนไป หมายความว่า ถ้าคุณลงทุนหุ้นด้วยเงิน 1 หมื่นบาท โอกาสที่คุณจะเสียจนหมดตัวแค่ 1 หมื่นบาท ในทางกลับกัน เงิน 1 หมื่นบาท จะสามารถสร้างผลกำไรให้คุณได้ 1 แสนบาท 1 ล้านบาท ถ้าคุณเก่งพอที่จะหาหุ้น 10 เด้ง 100 เด้ง ได้" ผมว่าเป็นแง่คิดที่น่าสนใจพอสมควร ลองคิดดูนะครับ
ประเด็นที่สองเรื่อง"การคาดการณ์" ผมสังเกตเห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ นักวิเคราะห์ชั้นเซียนโดยส่วนมาก พยายามที่จะคาดเดาตลาดว่าพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถคาดเดาตลาดได้ ถ้าคนๆนั้นสามารถคาดเดาตลาดได้ พวกเขาคงจะรวยเป็นเศรษฐีร้อยล้านไปแล้ว ไม่ต้องตื่นแต่เช้า กินอาหารกล่อง นั่งรถไฟฟ้า เข้าบริษัททำงานอย่างแน่นอน ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า "อย่าเชื่อบทวิเคราะห์" ในทางกลับกัน บทวิเคราะห์รายวันเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะมันเป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมมา ง่ายต่อการค้นคว้า และสรุปภาพรวมตลาดของเมื่อวาน นักลงทุนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเป็นวันๆในการรวบรวมข้อมูลเอง
สิ่งนี้ต้องขอบคุณอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกอันแสนกว้างใหญ่ แคบนิดเดียวเพียงแค่ปลายนิ้วคลิ๊ก

ปีเตอร์ ลินซ์ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจไว้ว่า
"มันคงเป็นเรื่องวิเศษถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงการถดถอยต่างๆ โดยการออกจากตลาดหุ้นถูกเวลา แต่ไม่มีใครรู้วิธีที่จะคาดการณ์มัน ยิ่งกว่านั้นถ้าคุณออกจากหุ้นและหลีกเลี่ยงการตกคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะกลับเข้ามาในหุ้นได้ทันในการวิ่งครั้งต่อไป ต่อไปนี้คือภาพที่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าคุณใส่เงิน 100,000 เหรียญลงในหุ้นวันที่ 1 กรกฏาคม 1994 และลงทุนเต็มที่มาตลอด 5 ปี เงิน 100,000 เหรียญของคุณก็จะเติบโตขึ้นเป็น 341,722 เหรียญ แต่ถ้าคุณออกจากหุ้นเพียง 30 วันในช่วงนั้น เป็น 30 วันที่หุ้นทำกำไรมากที่สุด เงิน 100,000 เหรียญ จะกลายเป็นจำนวนที่น่าผิดหวังที่ 153,792 เหรียญ โดยการอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลาคุณได้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่า 2 เท่า"

"การคาดเดาตลาดหมีเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการพูด คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอะไร เขาคิดแต่เพียงว่าเมื่อหุ้นขึ้นมาเยอะ ต้องมีคนเทขาย การเทขายครั้งนั้น เขาก็อาจจะตกใจและวิตกจริตไปเองว่าตลาดหมีมาแล้ว(Bear Market is coming) ดังนั้นเขาก็เลยเทขายตาม แต่น่าเสียดายที่การลงครั้งนั้นเป็นแค่การปรับฐานเท่านั้น คุณคิดว่านักลงทุนคนนั้นจะทำอย่างไรต่อไป?? เขามี 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 ต้องยอมจ่ายเงินที่สูงขึ้นเพื่อซื้อมันกลับคืนมา ทางเลือกที่ 2 ไม่ยอมซื้อคืนหรอก เพราะทำใจไม่ได้ที่ต้องซื้อแพงกว่า อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ทางเลือก นักลงทุน(ที่คิดว่าตัวเองฉลาด)เหล่านั้นได้พลาดโอกาสในการหาหุ้น 10 เด้ง ไปแล้ว คำแนะนำของผมคือ คุณต้องยืนหยัดกับหุ้นของคุณตราบที่พื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยน อย่าไปสนใจตลาด"

ผมจะยกตัวอย่างนิทานเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชาวมายา ดังนี้ครับ

"ความเชื่อของชาวมายา เชื่อกันว่าจักรวานถูกทำลายมา 4 ครั้ง ครั้งแรกถูกทำลายด้วยน้ำ ชนเผ่านั้นได้เรียนรู้ว่า เราถูกน้ำท่วมเสียหาย ครั้งหน้าพวกเขาจึงเขาไปอยู่ในป่า สร้างบ้านบนต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้น โชคไม่ดีที่ครั้งต่อไปจักรวาลถูกทำลายด้วยไฟ หลังจากการทำลายครั้งนั้นพวกเขาก็ได้เรียนรู้ว่าพวกเขาควรออกจากป่า ไปให้ไกลที่สุดและสร้างบ้านหินตามรอยแยกแผ่นดิน แต่น่าเสียดายที่ภัยพิบัติครั้งต่อไปถูกทำลายด้วย"แผ่นดินไหว" ผมจำสิ่งเลวร้ายครั้งที่ 4 ไม่ได้ น่าจะเป็นเศรษฐกิจตกต่ำ แต่น่าเสียดายที่ชนเผ่ามายาคงกำลังยุ่งอยู่กับการป้องกันแผ่นดินไหวครั้งต่อไป"


สำหรับนักลงทุนมือใหม่เพิ่งจะเข้าตลาดช่วงนี้ ผมมีคำสั้นๆอยากจะฝากไว้ให้คิด "คุณต้องยืนหยัดกับหุ้นของคุณตราบที่พื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยน อย่าไปสนใจตลาด" อีกครั้ง "คุณต้องยืนหยัดกับหุ้นของคุณตราบที่พื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยน อย่าไปสนใจตลาด" สำคัญมากๆครับ

นี้เป็นแนวคิดที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเรื่อง
One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท เกือบ 200 หน้า สรุปแบบสั้นๆ ให้เพื่อนๆได้ข้อคิดกัน ส่วนใครอยากจะได้มากกว่านี้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆ และมีมากกว่า 2 ประเด็นที่ผมกล่าวถึงแน่นอน ลองดูนะครับ
Source: SiTh LoRd P@cK (stock2morrow)

No comments:

Post a Comment