Tuesday, December 20, 2011

One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 2)

บทความสรุปดีๆที่นำมาฝากกัน มาจากหนังสือที่ไม่มีใครไม่รู้จักถ้าอยู่ในแวดวงการลงทุน One Up Wall Street: เหนือกว่าวอลสตรีท โดย SiTh LoRd P@cK จาก stock2morrow.
One Up Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท (ตอนที่ 2)
Peter Lynch กล่าวไว้ว่า หุ้นที่เขาจะไม่ซื้อเลย มีอยู่ 3 ประเภท คือ หุ้นร้อน หุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง และหุ้นกระซิบ
หุ้นร้อน คือ หุ้นที่มีการกล่าวขวัญในสังคมมากที่สุด ตัวที่นักลงทุนได้ยินจากมันตามทถานที่ต่างๆ โทรทัศน์ เว็บบอร์ด หน้าหนังสือพิมพ์ และสุดท้ายนักลงทุนเหล่านั้นก็อดใจไม่ไหว กระโดดลงไปร่วมวงกับมันด้วย หุ้นร้อนเป็นหุ้นที่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มันไม่ได้ขึ้นเพราะพื้นฐาน แต่มันขึ้นเพราะความหวังและความฝันของนักลงทุนบางอย่างเกี่ยวกับมัน ถ้าคุณไม่เก่งพอที่จะขายหุ้นร้อน (ซึ่งในความเป็นจริงถ้าคุณซื้อมันก็แสดงว่าคุณไม่เก่ง) ในไม่ช้าจากที่กำไร ก็จะกลายเป็นขาดทุน

ผมจะยกตัวอย่างแบบง่ายๆให้ฟัง ดังนี้ครับ เมื่อหลายปีก่อน อุตสาหกรรมการผลิตพรมเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงมาก มีการค้นพบเทคโนโลยีในการทอพรมในราคาที่ต่ำจากเมื่อก่อน ต้นทุนในการถักพรมคือ 20 เหรียญ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ต้นทุนเหลือแค่ 4 เหรียญ หมายความว่าผู้บริโภคก็นิยมซื้อใช้กันตามครัวเรือนไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ใช้พรมในการปูพื้นทั้งนั้น เพราะมันถูกกว่าการปูพื้นด้วยไม้ เมื่อก่อนมีบริษัทที่ผลิตพรมเพียงแค่ 4-5 บริษัท แต่หลังจากที่ธุรกิจพรมบูมสุดขีด กำไรพุ่งกระฉูด คนอื่นๆก็เลยจะลอกเลียนแบบตามเปิดบริษัทผลิตพรมด้วยเพราะเห็นมันกำไรดี จากคู่แข่งเพียง 5-6 แห่ง พุ่งขึ้นมา 200 กว่าแห่ง สุดท้ายก็ไม่มีใครได้กำไรจากธุรกิจพรมเลยแม้แต่แดงเดียว เพราะทุกบริษัทต่างก็พยายามลดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งทั้งสิ้น
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าคุณประสบความสำเร็จในธุรกิจ คุณก็ต้องเจอคนเลียนแบบแน่นอน


บริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง
Peter Lynch เรียกบริษัทเหล่านี้ว่า Diworseifications(ยิ่งกระจายยิ่งแย่) บริษัทที่จริงใจต่อผู้ถือหุ้นจริงๆ มักจะเป็นบริษัทที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ สมเหตุสมผล หรือไม่ก็มีการซื้อหุ้นคืนทุกครั้ง แต่น่าเสียดายบางบริษัทไม่ได้คิดเช่นนั้น เขามักจะไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นๆเพราะเชื่อว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างโง่เขลา บางทีผู้บริหารอาจจะรู้สึกตื่นเต้นที่สามารถไปเทคโอเวอร์บริษัทได้ ไม่ว่ามันจะแพงสักแค่ไหน

ในปี 1960 ถือเป็นยุคทองของการเทคโอเวอร์ เมื่อผู้บริหารเชื่อว่าการบริหารบริษัทมันช่างง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ 10 ปีหลังจากนั้น มันก็แสดงให้เห็นว่าวอลสตรีทไม่ปลื้มเท่าไรนักกับการเทคโอเวอร์บริษัทในหลายๆบริษัท ตลาดหลัทรัพย์เกิดการถล่มในปี 1973-1974 อย่างไรก็ตามการเทคโอเวอร์หรือซื้อกิจการไม่ได้บ่งบอกว่ามันเลวร้ายเสมอไป แต่มันจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าผู้บริหารชำนาญในตัวธุรกิจนั้นอยู่แล้ว และธุรกิจตัวแม่กำลังย่ำแย่
Peter Lynch ให้ข้อเสนอแนะว่า ถ้าบริษัทจะต้องซื้ออะไรบางอย่าง ผมอยากจะให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน แต่มันจะดีมากกว่าถ้าบริษัทมีเงินสดเหลือและซื้อหุ้นคืนอย่างแข็งขัน เพราะมันเป็นความจริงใจที่บริสุทธิ์จริงๆต่อผู้ถือหุ้น


สุดท้ายหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงจริงๆคือ
"หุ้นกระซิบ" เป็นหุ้นที่หวังผลระยะยาวในความคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น คุณมักจะได้ยินบ่อยๆว่า บริษัทผลิตยาสามารถผลิตยาต้านมะเร็ง รักษาโรคเอดส์ได้ แต่มันมีอยู่จริงหรือเปล่า สามารถผลิตได้จริงๆ หรือเป็นแค่โปรเจคในเศษกระดาษ นักลงทุนเป็นพวกไวต่อข่าวสาร ในบางครั้งสิ่งที่จะผลิตยังเป็นแค่แผนงานในกระดาษไม่สามารถผลิตได้จริง ราคาหุ้นก็นำไปก่อนซะแล้ว และถ้าบริษัทไม่สามารถผลิตยารักษาโรคเอดส์ได้จริงๆ คุณลองคิดดูว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น! ผมขอเรียกหุ้นเหล่านี้ว่า "หุ้นขายฝัน"

หุ้นกระซิบทำให้นักลงทุนโดนสะกดจิต และให้ความรู้สึกทางด้านอารมณ์ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงจนลืมมองสิ่งรอบข้างไป สิ่งที่ผมพยายามเตือนตัวเองคือ ถ้าบริษัทมันดีเยี่ยมจริงๆมันก็จะเป็นการลงทุนที่ดีในปีหน้าและปีต่อๆไป ทำไมเราไม่เลื่อนการซื้อหุ้นออกไปก่อนจนกว่าอะไรมันจะชัดเจนกว่านี้ เมื่อคุณยังสงสัยก็ควรรอการซื้อไปก่อน
หุ้น IPO ของบริษัทใหม่ๆก็เช่นเดียวกัน มีความเสี่ยงสูงมากเพราะว่ามันไม่มีธุรกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จากประสบการณ์ของ Peter Lynch แล้ว 3 ใน 4 ของหุ้น IPO ในระยะยาวแล้วน่าผิดหวัง


Source: SiTh LoRd P@cK (stock2morrow)

No comments:

Post a Comment