Thursday, November 17, 2011

วิกฤตน้ำมันโลก

เมื่อปลายสัปดาห์ ราคาน้ำมันโลกที่ตลาด NYMEX ได้ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 104.98 ดอลลาร์/บาเรล สูงสุดในรอบสองปีครึ่ง หลายคนจึงกังวลใจถึงแนวโน้มของราคาน้ำมันในช่วงต่อไป ว่าจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงนัยต่อเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางอยู่ ปัญหาที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นมาจากอะไร

ราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นรอบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังฟื้นตัว ย้อนกลับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤต และจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ของโลก ประกอบกับแหล่งน้ำมันของโลกที่มีอยู่จำกัด ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 70 ดอลลาร์/บาเรล มาเป็น 92 ดอลลาร์/ บาเรล ระหว่างปีที่แล้ว ก่อนเกิดการประท้วงในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

แต่หลังจากวิกฤตการเมืองได้ลุกลามในอียิปต์ ลิเบียและอีกหลายประเทศ ตลาดน้ำมันโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม ราคาจึงเพิ่มขึ้นไปอีก พุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์/บาเรล เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

สำหรับแนวโน้มน้ำมันในช่วงต่อไป ณ จุดนี้ ยากที่จะคาดการณ์ได้ เพราะปัญหาการประท้วงที่กำลังคุกรุ่นอยู่นั้น เกิดในภูมิภาคของประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 40% ของตลาดน้ำมันโลก โดยปัญหากำลังลุกลามจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง

โชคดีที่ขณะนี้ ปัญหายังจำกัดวงอยู่ในประเทศที่มีกำลังการผลิตไม่มากนักเท่านั้น หากปัญหากระจายวงกว้าง ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันยิ่งขึ้น ส่วนจะกระทบมากน้อย ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาการประท้วงจบช้าหรือเร็ว

จบเร็ว ราคาจะขึ้นไปไม่มาก แต่อาจจะใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่จะปรับลดลงมา เพราะกระบวนการและฐานการผลิตได้รับผลกระทบ ต้องเคลื่อนย้ายคนงานออกจากพื้นที่ อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับมาผลิตใหม่ได้

จบช้า ยืดเยื้อ ใช้เวลานานในการคลี่คลาย ตรงนี้ก็จะกระทบกับน้ำมันในตลาดโลก และผู้เชี่ยวชาญมองว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอาจจะไปจนถึง 120-125 ดอลลาร์/บาเรล

กระจายไปประเทศอื่นๆ เช่น โอมาน เยเนม บาร์เรน อัลจีเรีย ไนจีเรีย อิหร่าน ราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาเรล

เรียกว่าต้องจับตามองกันอย่างไม่กระพริบ เพราะปัญหาการเมืองของประเทศเหล่านี้คงไม่จบง่าย ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะนิ่งลง ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองที่หลายๆ คนเคยมั่นใจในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ได้หมดลงไปแล้ว และการเมืองได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดราคาน้ำมันโลก
ถ้าเป็นเช่นนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกและไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น จะซ้ำเติมวิกฤตอาหารโลกและราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่พุ่งขึ้นสูงอยู่แล้ว และสร้างแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้นจากเดิม
ตรงนี้ก็จะมีนัยต่อเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นในสหรัฐและยุโรป และจะมีนัยต่อนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ล่าสุด ธนาคารกลางของยุโรป ออกมาบอกว่า ประชุมครั้งหน้า จะเริ่มพิจารณาถึงการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้การฟื้นตัวชะลอออกไปอีก
ส่วนประเทศไทย ซึ่งยังพึ่งพาน้ำมันเป็นสัดส่วนที่สูง ราคาน้ำมันโลกที่ขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ต่อการใช้จ่ายของประชาชน และต่อเศรษฐกิจ ทำให้ (1) เศรษฐกิจชะลอลง (2) ดอกเบี้ยก็อาจจะต้องขึ้นเร็วขึ้นจากเดิม และ (3) รัฐบาลมีข้อจำกัดในการเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมัน เมื่อช่วยแล้วก็ทำได้ไม่นาน (เหมือนครั้งที่แล้วเมื่อปี 48) ท้ายสุดก็จะหมดเงิน มีหนี้จำนวนมาก ต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว ซึ่งตอนนั้น ต้นทุนสินค้าต่างๆ ก็จะพุ่งขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และต้องมาแก้ไขอีกรอบ
ตรงนี้ก็ต้องทำใจครับ และพวกเราก็ควรที่จะเริ่มเตรียมการรับกับยุคน้ำมันแพงรอบใหม่ ตั้งแต่วันนี้ครับ

************************
ที่มา : คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

No comments:

Post a Comment